คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยืนยันตรึงราคา LPG 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่อ 3 เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ยังไม่ปรับขึ้นแม้ที่ประชุมจะมีข้อเสนอให้ขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม ย้ำยังต้องช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่อ ขณะที่ฐานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ติดลบต่ำสุดในรอบ 3 ปีเหลือ -58,428 ล้านบาท ต่ำกว่าปี 2565 เป็นครั้งแรก
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ลงเพจเฟสบุ๊คตัวเองเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ซึ่งความจริงมีตัวเลขเสนอมาให้เลือกปรับขึ้นราคาเป็น 438 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม แต่ทาง กบง.ได้พิจารณาเห็นว่ายังสามารถยืนที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมได้อยู่ จึงเลือกแนวทางที่จะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทเท่าเดิม เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมในฐานะรัฐมนตรีพลังงานได้ดูแลมาตลอดตามนโยบายลดราคาพลังงานของรัฐบาล โดยที่ผ่านมาสามารถตรึงราคาก๊าซหุงต้มให้กับประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 30 มี.ค. 2568 เงินติดลบลดลงเหลือ -58,428 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบลดลงเหลือ -12,519 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบเหลือ -45,909 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเงินติดลบที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี
โดยเงินกองทุนฯ เริ่มติดลบเมื่อ 26 ธ.ค. 2564 ที่ -4,480 ล้านบาท และเมื่อต้นปี 2565 เงินกองทุนฯ เริ่มทยอยติดลบมากขึ้น ณ วันที่ 2 ม.ค. 2565 เงินกองทุนฯ ติดลบที่ -5,945 ล้านบาท และมากขึ้นเรื่อยๆ ระดับกว่าแสนล้านบาทในปี 2566 และ 2567 ขณะที่ปัจจุบันปี 2568 เงินกองทุนฯ ติดลบเหลือ -58,428 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปี 2565 เป็นครั้งแรก
ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้เร่งเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลง โดยปัจจุบันเรียกเก็บดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลและดีเซล B20 จ่ายเข้ากองทุนฯ จำนวน 2 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม จากเดิมเรียกเก็บ 3.50 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ จ่ายเข้ากองทุนฯ ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 10.21 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ส่งเข้าถึง 3.37 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้า 1.69 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้า 1.16 บาทต่อลิตร
ส่งผลให้สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ รวม 351 ล้านบาท ซึ่งมาจากการเรียกเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันทุกชนิดส่งเข้ากองทุนฯ ได้ประมาณ 331 ล้านบาท และมาจากโรงแยกก๊าซฯ ส่งเข้ากองทุนฯ 20 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนฯ มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 10,530 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับเงินกองทุนฯ ในปัจจุบันที่ติดลบรวมอยู่ -58,428 ล้านบาท มีโอกาสที่กองทุนฯ จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ประมาณเดือน ส.ค. 2568 นี้ หากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวระดับปัจจุบัน
โดยราคาน้ำมันโลกล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 เวลาประมาณ 14.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 72.45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.01 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 69.15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 73.47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 เป็นดังนี้ ค่าการตลาดกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ยังคงทรงตัวระดับสูง โดยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ถูกเรียกเก็บค่าการตลาด 3.88 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 มีค่าการตลาดที่ 3.47 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 3.55 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.56 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 4.74 บาทต่อลิตร, ดีเซล อยู่ที่ 1.78 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดระหว่าง 1-31 มี.ค. 2568 อยู่ที่ 2.43 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสมที่ 1.5-2 บาทต่อลิตร)