กบง. ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ 1-31 ม.ค. 66

335
- Advertisment-

กบง. ตรึงราคา LPG ไว้ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2566 โดยให้กองทุนน้ำมันช่วยแบกภาระเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขอความร่วมมือผู้ค้าคงค่าการตลาดดีเซล ที่ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตรต่ออีก 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 66)​ พร้อมเห็นชอบแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ช่วงเดือนมกราคม -​เมษายน 2566 อาทิ เช่น มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด การจัดการในภาค ปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (13 ธันวาคม 2565) การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดราคา LPG โดยราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 633.60 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 480 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้คงราคาขายส่ง LPG หน้าโรงกลั่น ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG ยังอยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2566

การตรึงราคาดังกล่าวส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 1,352 ล้านบาทต่อเดือน และฐานะกองทุนในบัญชีก๊าซ LPG ติดลบรวม 43,883 ล้านบาท ซึ่งเข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

- Advertisment -

ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว โดยขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพ ของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบ ต่อไป

ที่ประชุม กบง. ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำหนดราคาขายปลีกก๊าซ NGV ดังนี้ รถยนต์ทั่วไป ให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2565 จาก 16.59 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 17.59 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป รถแท็กซี่ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน ของ ปตท. ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ไว้ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 ซึ่งการช่วยเหลือตามแนวทางนี้ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือของ ปตท. ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2566 ประมาณ 2,682 ล้านบาท (รถยนต์ทั่วไป 2,407 ล้านบาท และรถแท็กซี่ 275 ล้านบาท)

รวมทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 และผลประเมินผลประโยชน์ทางการเงิน (Financial Benefit) จากการดำเนินมาตรการเพื่อลดการนำเข้า Spot LNG ราคาสูงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 อาทิ เช่น มาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม จัดหาก๊าซในประเทศและเพื่อนบ้านให้ได้มากที่สุด การบริหารจัดการเพื่อให้ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาค ปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยที่ประชุม กบง. ให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน สามารถปรับรายละเอียดมาตรการและประมาณการเป้าหมาย หรืออาจเพิ่มเติมมาตรการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และเงื่อนไขข้อจำกัดในการดำเนินการ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละมาตรการดำเนินการตามมาตรการให้บรรลุเป้าหมายในการลดการนำเข้า Spot LNG ราคาสูง

นอกจากนี้ที่ประชุม กบง. ยังได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการยกเว้นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะปริมาณที่จำหน่ายเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการยกเลิกมาตรการการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ในช่วงสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน และมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ดำเนินการออกประกาศ ธพ. ว่าด้วยการกำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง และแจ้งมติดังกล่าวต่อผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ให้ยื่นขอความเห็นชอบเปลี่ยนแปลงปริมาณการค้าตามขั้นตอนต่อไป อีกทั้งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ติดตามแผนบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ถึงเดือนเมษายน 2566 และรายงานต่อ กบง. ต่อไป

Advertisment