กบง. จ่อพิจารณาราคา LPG ก่อนสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 423 บาท 30 มิ.ย. 2567 นี้

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมเปิดประชุมพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 ระบุหากขยายเวลาชดเชยราคาต่อ ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ บัญชี LPG ไปอุ้ม โดยปัจจุบันใช้เงินชดเชย LPG ไปแล้วรวม 47,615 ล้านบาท เหลือเงินอีกเพียง 2,385 ล้านบาท จะเต็มกรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท แต่หากไม่ชดเชยราคาต่อ จะส่งผลให้ LPG ปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดโลก  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมประชุมพิจารณาราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยหาก กบง. มีมติต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก จะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของบัญชี LPG มาพยุงราคาไว้ แต่หากเลิกการอุดหนุนราคา จะส่งผลให้ราคา LPG ต้องปรับขึ้นตามกลไกตลาดโลก

สำหรับเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่จะใช้อุดหนุนราคา LPG นั้น ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท (จากเดิมกำหนดกรอบวงเงินไว้ 48,000 ล้านบาท) ส่งผลให้กรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคา LPG ปัจจุบันรวมเป็น 50,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้อุดหนุนราคา LPG ไปแล้ว 47,615 ล้านบาท และเหลือเงินอุดหนุนราคาได้อีกเพียง 2,385 ล้านบาทเท่านั้น

- Advertisment -

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในบัญชี LPG ใช้ชดเชยราคา LPG อยู่ประมาณ 4.74 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคา LPG ประมาณ 50.76 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 1,522 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่ราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงประมาณ 582.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

สำหรับการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมนั้น ทาง กบง. ได้เริ่มตรึงราคามาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 รวมเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว และย้อนไปในช่วงเดือน มี.ค. 2567 กบง. ได้มีมติให้ตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 นี้ โดยให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาเฉพาะเดือน เม.ย. 2567 ส่วนเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะของบกลางจากรัฐบาลมาชดเชยราคาแทน 

แต่ ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ตรึงราคา LPG ตามเดิมที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ดูแลเอง ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบกลางมาช่วยตรึงราคา LPG แต่อย่างใด จึงส่งผลให้ เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2567 กบน. ต้องมีมติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อใช้ชดเชยราคา LPG เป็น 50,000 ล้านบาทดังกล่าว

ส่วนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ณ วันที่ 16 มิ.ย. 2567 ยังติดลบรวม  -110,711 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบรวม -63,096 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG ติดลบรวม  -47,615 ล้านบาท

โดยกองทุนน้ำมันฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ มากขึ้น เนื่องจากได้กู้เงินกับสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท เมื่อปี 2565-2566 และจะเริ่มครบกำหนดต้องจ่ายคืนเงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 30,000 ล้านบาท ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กบน. ได้พยายามปรับขึ้นราคาดีเซลครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อลดภาระการชดเชยราคาลง โดยมีการขึ้นราคาดีเซลรวมไปแล้ว 6 ครั้ง รวมราคา 3 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันก็พยายามแก้ปัญหาลดการชดเชยราคา LPG ลง แต่เมื่อ ครม. ไม่อนุมัติเงินมาช่วย จึงทำให้กองทุนฯ ยังต้องดึงเงินในกองทุนฯ มาพยุงราคาต่อไปก่อน 

Advertisment

- Advertisment -.