บริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พาเหรดผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและเทคนิคในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ โดย กกพ. ระบุผู้ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ทั้ง 151รายจะให้เวลา 1 เดือนในการยื่นอุทธรณ์ หากพบเอกสารผิดพลาดไม่มาก จะพิจารณาประกาศรายชื่อเพิ่มเติมให้ พร้อมกำหนดวันเปิดซองประมูล 1 ก.ย. 2564 ก่อนประกาศผล 2 ก.ย. 2564 นี้ ยืนยันชุมชนและเกษตรกรจะต้องได้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ภายหลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ปริมาณรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 95 ราย จากทั้งหมด 246 ราย และไม่ผ่านเกณฑ์อีกจำนวน 151 ราย นั้น
รายชื่อของผู้ที่ผ่านเกณฑ์ ส่วนใหญ่เป็นบริษัท ในเครือของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อาทิ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ซึ่งยื่นเสนอโดย บริษัทย่อยในกลุ่ม จำนวน 29 โครงการ ซึ่งผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคทั้งหมด โดย มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 93 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 78.85 เมกะวัตต์
บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ซึ่งได้ยื่นเสนอโครงการไปทั้งสิ้น 10 โครงการ โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคจำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 27 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 7 โครงการ โรงไฟฟ้าชีวภาพ 1 โครงการ และไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคจำนวน 2 โครงการ โดยทาง TPCH ระบุจะยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการต่อไป
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ยื่นเสนอ 6 โครงการ โดยผ่านคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ส่วนที่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคจำนวน 4 โครงการ ก็จะยื่นอุทธรณ์และรอตรวจสอบดูว่าไม่ผ่านคุณสมบัติในข้อใดก่อนเช่นกัน
ส่วน บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI มี บริษัทร่วมทุนผ่านเกณฑ์ 1 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 3.5 เมกะวัตต์ และไม่ผ่านคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 6 โครงการ จากที่ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 7 โครงการ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เสนอโครงการและผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำเอกสารที่รัดกุมและชัดเจน จากประสบการณ์ที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาก่อนจึงได้เปรียบกว่าบริษัทรายเล็กๆ
สำหรับบริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณา กกพ.จะให้เวลา 1 เดือนในการยื่นอุทธรณ์ หากพบว่าเอกสารผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจประกาศรายชื่อให้ผ่านเกณฑ์เพิ่มเติมได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามยืนยันว่า บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและได้ร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ก็ยังจะช่วยให้ เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการฯนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องการแบ่งปันประโยชน์กันชัดเจน เช่น บริษัทที่ร่วมโครงการต้องมีการทำเกษตรพันธสัญญา ( contract farming ) กับวิสาหกิจชุมชนที่จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมทั้งบริษัทต้องมอบหุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน และให้ผลตอบแทนกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่วนเงินจากไฟฟ้าที่ขายได้ก็จะต้องแบ่งเข้ากองทุนหมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนด้วย เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนจากนี้ จะเป็นไปตามประกาศของ กกพ. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่ประกาศขยายเวลาขั้นตอนต่างๆ ออกไปอีก 7 วัน เนื่องจากความล่าช้าในการตรวจสอบเอกสารด้านคุณสมบัติและเทคนิคที่ผ่านมา เพราะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ทำให้การตรวจสอบต้องใช้เวลามากขึ้น ดังนั้นไทม์ไลน์ใหม่ของกระบวนการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนจากนี้จะเปิดโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณา และประกาศผลการอุทธรณ์อีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค. 2564 จากนั้น ทาง กกพ.จะเปิดซองประมูลราคาในวันที่ 1 ก.ย. 2564 และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในวันที่ 2 ก.ย. 2564 และให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า( PPA )ภายใน 120 วันนับจากวันประกาศผล หรือภายใน 31 ธ.ค. 2564 และให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 31 ธ.ค. 2567
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานด้วยว่า บริษัทพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล 140 เมกะวัตต์ได้อีก
โดยโครงการดังกล่าวภาครัฐมีเป้าหมายต้องการช่วยเหลือผู้ผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบและมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วแต่ยังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบไม่ได้ เพราะรัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการได้เบื้องต้นนอกจากจะต้องมีความพร้อมด้านโรงไฟฟ้าแล้ว ยังต้องมีการปรับปรุงด้านสายส่งไฟฟ้าด้วย หรือเป็นโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) มาก่อน จึงสามารถพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการได้
โดยโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล เป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงงานได้แปลง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในระยะเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์เดิม ให้เป็น “โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล” เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ยกเลิกกลุ่ม Quick Win ออกไป ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้แล้วไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้นั่นเอง
สำหรับความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลนั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากนั้นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติเปิดโครงการต่อไป