กกพ. ลดค่าไฟเดือน พ.ค.- ส.ค. 66​ ลง 7.08​ สตางค์ต่อหน่วย ไม่กระทบสภาพคล่อง กฟผ.

431
- Advertisment-

ผลการประชุม​ กกพ.ไฟเขียวให้ลดค่าไฟฟ้าลงอีก​ 7.08 สตางค์ต่อหน่วย​ตาม​ มติ​อนุกรรมการและ​ข้อเสนอของ​ กฟผ. ​ที่มีหนังสือยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการสภาพคล่อง​และความสามารถในการชำระคืนหนี้เฉพาะช่วง ​พ.ค.-ส.ค. 2566​ ได้​ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาค่าเอฟที​ งวด​ ก.ย.- ธ.ค.​2566​ จะต้องมีการพิจาณาความเสี่ยงสภาพคล่องของ กฟผ.​ อีกครั้ง​

นายคมกฤช​ ตันตระ​วาณิชย์​ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (สำนักงาน ​กกพ.)​ในฐานะโฆษก​ กกพ.​เปิดเผยถึงผลการประชุม​ กกพ.​ ครั้งที่​ 15/2566​(ครั้งที่​843​)​เมื่อวันที่​ 24​ เม.ย.2566​ ว่า​ ที่ประชุมเห็นชอบ​ตาม​มติของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการปรับอัตราค่าบริการไฟฟ้า​ ที่มีนายสหัส ประทักษ์นุกูล​ กรรมการ กกพ.​เป็นประธาน ซึ่งประชุมเมื่อวันที่​ 21​ เม.ย.2566​ ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร​ หรือ​ ค่าเอฟที​ งวด​เดือน​ พ.ค.-ส.ค.2566​ ลง​ อีก​ 7.08 สตางค์ต่อหน่วย จาก 98.27 สตางค์ต่อหน่วย​ เหลือ​ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย​ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดลง​จากเดิมที่อนุมัติ​ไว้​ 4.77​ บา​ทต่อหน่วย เหลือ​ 4.70​ บาทต่อหน่วย​

โดย กฟผ.ได้แจ้งยืนยันว่าสามารถยืดระยะเวลาการทยอยคืนหนี้ที่รับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชน​ จากที่ต้องคืน​ 5​ งวด โดยสิ้นสุด​ เดือนธันวาคม​ 2567​ เป็น​ 6​ งวด คือจะสิ้นสุด​ เดือนเมษายน​ 2568​ ซึ่งทำให้​ วงเงินที่ต้องจ่ายคืนลดลงจาก​ 22,781 ล้านบาท​ หรือประมาณ​ 34.90 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ​ 18,158 ล้านบาท​ หรือ​27.82 สตางค์ต่อหน่วย​ คิดเป็นค่าเอฟทีที่ลดลงได้​ 7.08​ สตางค์ต่อหน่วย

- Advertisment -

โดยผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center​ -​ENC​ )​ รายงานว่า​ ผู้ว่าการ กฟผ. นายบุญญนิตย์​ วงศ์รักมิตร​ ได้มีหนังสือถึงประธาน กกพ.​เมื่อวันที่ ​18​ เม.ย. 2566​ ยืนยันว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบถึงสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ.​ ได้​ เฉพาะช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.​2566​ เท่านั้น​ ในการช่วยปรับลดค่าเอฟที​ ลงให้ประชาชนได้​ 7.08​ สตางค์ต่อหน่วย​ โดยในการพิจารณาค่าเอฟที​ งวด​ ก.ย.- ธ.ค.​2566​ จะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของ กฟผ.​ อีกครั้ง​ จากตัวเลขต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง​

โดยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ​ (สคร.)​ ซึ่งอยู่ในคณะอนุกรรมการฯ​แสดงความเห็นเป็นห่วงสภาพคล่องทางการเงินของ​ กฟผ.​ที่ต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีตามนโยบายของภาครัฐ​ เนื่องจากช่วงต้นปี​ 2566​ ที่ผ่านมา​ กฟผ.ได้ขอผ่อนผันการนำส่งเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว​ ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี​ 2566​ กฟผ. จะต้องนำเงินรายได้ส่งกระทรวงการคลังประมาณ​ 16,800 ล้านบาท​ โดยนำส่งครึ่งปีแรกในเดือน ต.ค.​2566​ ประมาณ​ 9,000 ล้านบาท​ และ กฟผ.​มีแผนงานในการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี​ 2566​ กว่า​ 30,000​ ล้านบาท​ ดังนั้น​ กฟผ. จึงต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดในภาพรวมให้มีความเหมาะสม​

ในขณะที่ทางผู้แทนจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ​ (สบน.) ​มีความกังวล​ว่า​หาก กฟผ. มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง​ และไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนด​ จนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไป​ จะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยที่สูงขึ้น​และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงิน​และอันดับความน่าเชื่อถือ​ หรือ​ Credit​ Rating ของ​ กฟผ.

Advertisment