กกพ. เล็งเปิดให้ Shipper แข่งขันจัดหา Spot LNG ขายเข้าระบบ Pool Gas ในโควต้าปี 64

1329
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมพิจารณานำโควต้านำเข้า LNG ของปี 2564 ที่จัดสรรให้ Shipper รายใหม่ ปริมาณ 4.8 แสนตันมาเปิดประมูลแข่งขันกันเพื่อขายเข้าระบบ Pool Gas แทนการให้ ปตท.นำเข้า Spot LNG เองเพียงรายเดียว ชี้ในปี 2565 -​2566 อาจจะมีShipper รายใหม่บางรายออกจากระบบ Pool Gas เพื่อรับความเสี่ยงราคา LNG เอง ในขณะที่ กฟผ. อดนำเข้า Spot LNG ในปี 64 นี้ เพราะจะทำต้นทุนค่าไฟพุ่ง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดแถลงชี้แจงประเด็น “นโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขัน” ต่อสื่อมวลชนผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564 โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจได้ระบุถึงการบริหารจัดการโควต้า LNG ในปี 2564 ในส่วนที่ให้ ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) รายใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ปริมาณ 4.8 แสนตัน ว่า ในเดือน ส.ค. 2564 นี้ ยังไม่มี Shipper รายใดแจ้งยืนยันปริมาณนำเข้า LNG เนื่องจาก การนำเข้าในรูปแบบ Spot LNG ยังมีราคาสูงประมาณ 13-15 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคาในระบบ Pool Gasที่ ปตท.เป็นผู้จัดหา เพราะหาก Shipper รายใดตัดสินใจนำเข้า LNG มาใช้ก็จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนราคาที่สูงขึ้นเอง

อย่างไรก็ตาม มี Shipper บางรายที่แจ้งขอทดลองนำเข้าเพียงบางลำเรือ โดยจะยอมรับความเสี่ยงเฉพาะต้นทุนราคาเฉพาะส่วนต่างของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สำนักงาน กกพ.จะรอการยืนยันจนถึงเดือน ส.ค.นี้ ว่าจะนำเข้ามาในปริมาณเท่าไหร่ และในเดือนใดบ้าง ส่วนปริมาณ LNG ที่เหลือตามโควต้า ทาง กกพ.จะพิจารณาร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่จะให้ ปตท.เปิดประมูลแข่งขันการจัดหา Spot LNG จำนวนดังกล่าว โดยที่ Shipper รายใหม่ก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าแข่งขันด้วย ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะเป็นผู้ได้สิทธิ์จัดหา Spot LNG และราคา LNG ที่ได้ จะถูกนำไปเฉลี่ยรวมกับราคา Pool Gas ของประเทศ ซึ่งยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนเพราะ LNG ช่วงปลายปีราคาสูงขึ้นมาก

- Advertisment -

นายคมกฤช กล่าวว่า ในนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขัน ที่ กพช.มีมติเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ต้องการให้ Shipper ที่ได้รับใบอนุญาต​เป็นผู้จัดหาLNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองที่ไม่เกี่ยวกับก๊าซในระบบ Pool Gas โดยต้องเป็นผู้ที่รับความเสี่ยงเรื่องของราคา LNG เอง ซึ่งแนวทางดังกล่าว Shipper แต่ละรายจะต้องไปจัดหา LNG ที่เป็นสัญญาระยะกลางหรือระยะยาวที่จะมีราคาก๊าซเฉลี่ยที่ต่ำกว่า Pool Gas โดยหากกลับมาซื้อก๊าซในระบบ Pool Gas เพื่อเสริมความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตัวเองในบางช่วงเวลา ก็จะต้องซื้อก๊าซในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคา Pool Gas ปกติ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ Shipper รายใหม่เอาเปรียบประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่จะเลือกนำเข้าLNGเฉพาะช่วงที่มีราคาถูกเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์แต่พอ LNG นำเข้าราคาแพง ก็จะกลับมาซื้อก๊าซจากระบบ Pool Gas

อย่างไรก็ตามการที่นโยบายของรัฐออกมาในช่วงที่ LNG มีราคาสูงขึ้นในปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ราคาเมื่อปี 2563 ทำให้ Shipper หลายรายยังไม่สามารถเจรจาทำสัญญาระยะกลางหรือระยะยาวในเงื่อนไขที่ดีกว่า Pool Gas ได้ในปีนี้ แต่เชื่อว่าในปี 2565 ที่มีโควต้า จำนวน 1.74 ล้านตัน และในปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตัน อาจจะมี Shipper บางรายที่มีสัญญาระยะกลางหรือระยะยาวที่นำเข้าLNG มาได้ตามโควต้าและยอมรับความเสี่ยงราคาเชื้อเพลิงเอง

นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า สถานการณ์​ราคา Spot LNG ที่มีราคาสูงในระดับ 13-15 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู อาจจะไม่เหมาะสมที่จะให้ กฟผ. นำเข้าLNG แบบSpot มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองในปี 2564 นี้ เพราะหาก กฟผ.นำ LNG เข้ามาใช้ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นจะถูกส่งผ่านไปในค่าไฟฟ้าส่วนของค่าเอฟที ทั้งหมด ยกเว้นว่า กฟผ.สามารถแสดงหลักฐานว่าการใช้ LNG ครั้งนี้ราคาไม่สูงกว่าการนำเข้า LNG ของปตท. และไม่เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

สำหรับ Shipper รายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซ LNG ตาม New Demand มีทั้งสิ้น 7 ราย ประกอบด้วย

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
Advertisment