คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมหารือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในการกำหนดกรอบสัดส่วนเอกชนผลิตไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ หรือ PDP ตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยพร้อมบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ย้ำค่าไฟฟ้าแพงมาจากปัจจัยราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น ส่วนปัจจัยด้านปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าไม่มากนัก
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานความคืบหน้ากรณีผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำร้องคดีกระทรวงพลังงานให้เอกชนมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าจนทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำกว่า 51% ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเห็นว่าภาครัฐได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องแล้วนั้น โดยศาลฯ มีคำแนะนำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)และ กกพ. ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในแต่ละช่วงเวลา เพราะหากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควรและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า หลังจากนี้ กกพ. เตรียมหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมทั้งสัดส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าเป็นอย่างไร เมื่อภาครัฐกำหนดเป็นนโยบายออกมาแล้วทาง กกพ.จะรับไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตามทาง กกพ. จะพยายามดูแลค่าไฟฟ้าของประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งตามหลักการค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่หาก กกพ.พิจารณาทิศทางค่าไฟฟ้าว่าต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มปรับขึ้นและลงเป็นครั้งคราว ทาง กกพ. ก็จะใช้วิธีเฉลี่ยต้นทุนค่าไฟฟ้าในแต่ละงวด เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าประชาชนไม่สูงเกินไป แต่หากพบว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเป็นเวลานาน ก็จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได หรือ ทางภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนบางส่วน เพื่อให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงเกินไปได้
ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ก็ยังคงบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่อไปตามแผนงาน รวมถึง กฟผ.ยังมีทั้งการผลิตไฟฟ้าเองและการให้หน่วยงานอื่นเข้ามาผลิตไฟฟ้าแทน ดังนั้นแม้การผลิตไฟฟ้าของภาครัฐโดย กฟผ.จะมีสัดส่วนที่ลดลง แต่โดยภาพรวมไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ
ทั้งนี้การที่สำรองไฟฟ้าของประเทศมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และมีผลให้ค่าความพร้อมจ่าย(Availability Payment: AP) สูงขึ้น แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของ กกพ. พบว่าสำรองไฟฟ้าสูงกระทบค่า AP ไม่มาก แต่ส่วนที่กระทบค่าไฟฟ้าที่แท้จริงคือ ราคาก๊าซฯ ที่เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นจึงเป็นเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนอยู่ในขณะนี้
ผู้สื่อข่าว ENC รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาคดีที่นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล เป็นผู้ร้องขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ปี 2559-2563 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2561-2580 ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% เป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่
ทั้งนี้สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา ที่ 56 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามที่มีผู้ร้อง นั้น ระบุว่า รัฐต้องจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้
การจัดหรือดําเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร
การนําสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดําเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับ
ประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคํานึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การที่กระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และมีมติโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่ากระทรวงพลังงานปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรคสาม และ สี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง
โดยศาลยังมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีข้อแนะนำว่า รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ และกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองอันเกี่ยวกับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอันส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับความเป็นจริงตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในแต่ละช่วงเวลา หากกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองสูงเกินสมควรและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะอาจถูกดำเนินการโดยองค์กรอื่นหรือศาลอื่นได้