คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศ “ร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Pool Manager) พ.ศ. …” สำหรับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติใน “กลุ่มที่นำเข้าก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Regulated Market” ให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 พร้อมเตรียมแยก Pool Manager เป็นหน่วยงานอิสระจาก ปตท. ระบุเปิดรับความเห็นประชาชนถึง 6 ต.ค. 2566 นี้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออก “ร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Pool Manager) พ.ศ. …” และเปิดรับฟังความเห็นประชาชนระหว่าง 22 ก.ย.- 6 ต.ค. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน www.erc.or.th
โดยประกาศดังกล่าวระบุเหตุผลการกำหนดร่างฯ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติใน “กลุ่มที่นำเข้าก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Regulated Market” อย่างเป็นธรรมโปร่งใส และสอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้บริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Pool Manager มีหน้าที่สำคัญ เช่น 1.รวบรวมแผนการจัดหาก๊าซฯ (Supply) และความต้องการใช้ก๊าซฯ (Demand) ของผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ตามที่ กกพ.กำหนด
2.ตรวจสอบความต้องการใช้ก๊าซฯ ของ Shipper เทียบเคียงกับแผนการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
3.รวบรวมปริมาณการนำเข้าก๊าซฯ และปริมาณการใช้ก๊าซฯ ที่เกิดขึ้นจริงของ Shipper ทุกราย เพื่อเทียบกับแผนการจัดหาก๊าซฯ
4.เปรียบเทียบแผนจัดหา และความต้องการใช้ก๊าซฯ เพื่อประเมินปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ส่วนที่เกินจากแผน รวมทั้งจัดทำแผนและบริหารการจัดหาก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ ในส่วนที่เกินจากแผนของประเทศ โดยมอบหมายให้ Shipper ที่รับผิดชอบแผนการจัดหาก๊าซฯ นั้นๆ หรือ Shipper รายใดรายหนึ่ง ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนด
5.รับซื้อก๊าซฯ หรือ LNG จาก Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ณ จุดส่งมอบก๊าซฯ ในราคาที่ Shipper จัดหา รวมถึงอัตราค่าผ่านท่อในทะเล สำหรับกรณีก๊าซอ่าวไทย, อัตราค่าผ่านท่อเพื่อนำส่งก๊าซฯ มายังประเทศไทย สำหรับกรณีก๊าซจากประเทศเมียนมา และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและค่าบริการสถานี LNG สำหรับกรณีการจัดหาในรูปแบบ LNG ตามราคา และเงื่อนไขสัญญาที่ กกพ. ให้ความเห็นชอบ
6.คำนวณราคา Pool Gas ของกลุ่ม Regulated Market ตามคู่มือที่ กกพ.เห็นชอบ และส่งรายละเอียดการคำนวณ ข้อมูลที่ได้จาก Shipper ทุกเดือนให้สำนักงาน กกพ. ทุกเดือนด้วย
7.ขายก๊าซฯ ให้ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซฯ ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้าตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ
8.กรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินให้ Pool Manager บริหารจัดการก๊าซฯ ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยคำนึงถึงต้นทุนพลังงานของประเทศเป็นหลัก พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขเหตุการณ์ดังกล่าวต่อ กกพ. หรือ คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินงานของ Pool Manager ที่ กกพ. มอบหมาย
9.รวบรวมข้อมูลประมาณการราคาและปริมาณจาก Shipper ทุกราย เพื่อจัดทำประมาณการราคา Pool Gas ในทุกเดือนเป็นรายเดือน ล่วงหน้า 16 เดือน และส่งให้สำนักงาน กกพ. , กฟผ. และ Shipper เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
10.ติดตามการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ของ Shipper เพื่อลดผลกระทบต่อราคา Pool Gas ของประเทศ และให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศและผู้ใช้ก๊าซฯ โดยรวม
ส่วนการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ของ Pool Manager นั้น ให้จัดทำสัญญามาตรฐานสำหรับการซื้อและขายก๊าซฯ เพื่อให้ใช้กับ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ตามที่ กกพ.กำหนด นอกจากนี้ให้ Pool Manager ทำสัญญาเพื่อรับซื้อก๊าซฯ และ/หรือ LNG จาก Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ในราคาก๊าซฯ ที่จัดหาโดย Shipper นั้นๆ รวมค่าผ่านท่อ ตามที่ กกพ.กำหนดและขายก๊าซฯ ให้กับ Shipper ทุกรายในกลุ่ม Regulated Market ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซฯ ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า Pool Gas
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กระบวนการจัดตั้ง Pool Manager เป็นหน่วยงานอิสระจาก ปตท.ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ Pool Manager ดำเนินการแบ่งแยกขอบเขตงานและส่วนงานที่ชัดเจนไปพลางก่อน โดยจัดทำกระบวนการแบ่งขอบเขตงานเสนอต่อ กกพ. ต่อไป