คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นร่าง “หลักเกณฑ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ….” ระหว่าง 14-28 ส.ค.2563 เบื้องต้นกำหนด 7 หัวข้อ ที่สามารถทำโครงการเสนอขอใช้งบประมาณได้ อาทิ ด้านการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม แต่มีข้อห้ามต้องไม่เป็นโครงการที่จัดซื้อที่ดิน หรือก่อสร้างบนที่ดินส่วนบุคคล และต้องไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะแสวงหากำไรโดยการกู้ยืมเงินกองทุนฯ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศรับฟังความเห็น “ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ….” ผ่านทางเว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th ระหว่างวันที่ 14-28 ส.ค. 2563
โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้น กำหนดให้ผู้ใช้เงินกองทุนฯ ต้องจัดทำโครงการที่อยู่ใน 7 ประเภท ดังนี้ 1. ด้านสาธารณสุข เพื่อลดหรือป้องกันปัญหาสุขภาพของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เช่น โครงการสร้าง ขยาย ปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อยกระดับการบริการสาธารณสุข และการซื้ออุปกรณ์ ครุภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น
2.ด้านการศึกษา เช่น โครงการให้ทุนการศึกษารายปี,โครงการจัดหาครูในวิชาที่ขาดแคลน และโครงการสร้าง ขยาย หรือ ปรับปรุงอาคารโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและสถานศึกษา เป็นต้น 3.ด้านเศรษฐกิจชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เช่น โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตหรือเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชน และโครงการอบรมพัฒนาและสร้างอาชีพ เป็นต้น
4. ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการป้องกันและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ,โครงการบริหารจัดการแนวกันไฟชุมชน,โครงการปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน และโครงการบริหารจัดการลำน้ำแบบครบวงจ รวมถึงการขุดลอกคลองและคูระบายน้ำ เป็นต้น 5.ด้านสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภค อาทิ แหล่งน้ำ ถนน ประปา ไฟฟ้า เช่น โครงการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคกรณีเร่งด่วนอันเนื่องมาจากภัยพิบัติซึ่งหน่วยงานของรัฐไม่มีงบประมาณรองรับไว้ เป็นต้น
6.ด้านพลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าและชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน เช่น โครงการผลิตหรือนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงจำหน่ายให้โรงไฟฟ้าในชุมชน เช่น ชีวมวล ชีวภาพ ขยะ และโครงการส่งเสริมการประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานชุมชน เช่น ติดแผงโซลาเซลล์ให้ชุมชน ศาสนสถาน โรงเรียนของรัฐ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น
และ 7. แผนงานอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินสูงสุดไว้ที่ 15% ของเงินจัดสรรรายปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยไม่นับรวมเงินเหลือจ่ายที่สมทบ และต้องไม่เกิน 25 ล้านบาทต่อปี ถ้าขอเกินวงเงินดังกล่าวจะต้องให้คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า(คพรฟ.)พิจารณา เช่น โครงการจัดงานประเพณี วัฒนธรรม และส่งเสริมกิจกรรมด้านศาสนา , โครงการศึกษาดูงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน, โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด(CCTV) สำหรับพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญก็คือ โครงการที่ยื่นขอจะต้องไม่เป็นโครงการที่เป็นการจัดซื้อที่ดิน หรือก่อสร้างบนที่ดินส่วนบุคคล และต้องไม่เป็นโครงการที่มีลักษณะแสวงหากำไรโดยการกู้ยืมเงินกองทุนฯ
โดยโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนและจัดอยู่ใน กองทุนประเภท ก (กองทุนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 5,000 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อปี หรือมีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป) จะต้องให้ คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) พิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนเสนอ คพรฟ. รวมทั้งกองทุนประเภท ก และ ประเภท ข (กองทุนขนาดกลาง ที่มีปริมาณผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 5,000 ล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมงต่อปี และมีรายได้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี) ต้องให้ คพรฟ.พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติโครงการด้วย จากนั้นจึงจะเสนอแผนงานประจำปีต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่พิจารณาให้ความเห็นประกอบภายใน 15 วัน จากนั้นจึงจะเสนอ กกพ.อนุมัติต่อไป
ทั้งนี้หากพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจรับของโครงการไม่เป็นไปตามสัญญา เงื่อนไข และประกาศที่เกี่ยวข้องให้ คพรฟ. ดำเนินการตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลของร่าง ดังกล่าวฯ ยังกำหนดให้ผู้ได้รับการจัดสรรเงินซึ่งเป็นกลุ่มบุคคล ตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ. 2553 และระเบียบ กกพ.ฯ ว่าด้วยการพัสดุของกองทุนฯพ.ศ. 2555 สามารถรับการจัดสรรเงินกองทุนได้เฉพาะปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และอยู่ในวงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการเท่านั้น