กกพ.เตรียมแผนรับมือราคาLNG ปี64 ผันผวนในระดับสูง

645
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จับตาราคา LNG โลกปี64 ผันผวนในระดับสูงกว่าปี 63 ที่เคยมีราคาต่ำเพียง 1.78 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู โดยสั่ง กฟผ.เตรียมพร้อมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตา แทนก๊าซ หากมีต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตที่ต่ำกว่า พร้อมเร่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสรุปข้อมูลการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัมปทานว่ามีความต่อเนื่องหรือไม่ หรือต้องนำเข้าLNG ทดแทนในปริมาณเท่าใด เพื่อให้ สามารถเตรียมจัดซื้อไว้ก่อนล่วงหน้าที่จะได้เงื่อนไขที่ดีกว่าการจัดซื้อแบบเร่งด่วน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ติดตาม สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยล่าสุด ราคา LNG ตลาดจร หรือ Spot LNG ปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่า ราคา Spot LNG เฉลี่ยช่วงวันที่ 1 – 5 มี.ค. 2564 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.62 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ในปี 2564 นี้ถือว่าราคา LNG โลกมีความผันผวนหนัก และปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 มาก จากที่มีราคาต่ำสุดที่ ปตท.เคยจัดซื้อได้เพียง 1.78 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เมื่อเดือน ก.ค. 2563 โดยคาดว่าสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากหลายประเทศได้จัดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ไปมากแล้ว ทำให้เปิดประเทศกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย

- Advertisment -

สถานการณ์ราคา LNG ที่มีความผันผวน ดังกล่าว ทำให้ กกพ. ต้องวางแผนจัดทำแนวทางการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าไว้หลายแนวทาง เพื่อรองรับ

โดย เบื้องต้น กกพ.จะพิจารณาโรงไฟฟ้าต้นทุนต่ำ เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อน เพื่อไม่ให้มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่สูงจนกระทบอัตราค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ กกพ.ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าที่สามารถเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาให้พร้อมใช้งานได้เสมอ โดยหากราคา LNG ตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงกว่าต้นทุนการใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้า ก็จำเป็นต้องให้โรงไฟฟ้าน้ำมันเดินเครื่องแทนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ได้

สำหรับการจัดการในช่วงรอยต่อของอายุสัมปทานปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 หากการส่งมอบพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมระหว่างรายใหม่และรายเก่า ไม่สามารถตกลงกันได้ตามแผนจนกระทบปริมาณการผลิตที่ไม่ต่อเนื่อง และอาจต้องนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้แทน นั้นถึงแม้จะเป็นช่วงที่มีราคาแพง กกพ.ก็ต้องตัดสินใจให้นำเข้ามาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ดีกว่าการปล่อยให้ประเทศประสบปัญหาความมั่นคงไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทาง กกพ. ต้องการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกระทรวงพลังงาน มีข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็วว่า กรณีแหล่งเอราวัณจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ซึ่งการมีข้อมูลที่ชัดเจนล่วงหน้าจะช่วยให้ กกพ.กำหนดแนวทางการบริหารจัดการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดได้ เช่น หากรู้ล่วงหน้าว่า ก๊าซฯ จะไม่เพียงพอแน่นอน ผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้เตรียมนำเข้าล่วงหน้า ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในราคาถูกกว่า การซื้อแบบเร่งด่วน

Advertisment