กกพ.เตรียมเสนอให้ปตท.นำเข้าLNGโควต้าปี64 ส่วนที่เหลืออีก 2.4 แสนตัน

1037
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมหารือกระทรวงพลังงาน จัดสรรโควต้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เหลืออีก 2.4 แสนตัน จากทั้งหมด 4.8 แสนตันในปี 2564 ให้ ปตท.นำเข้าหลังจาก กกพ. อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้าส่วนแรก 2.4 แสนตัน เดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสรรโควต้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) 4.8 แสนตันในปี 2564 ว่า หลังจากไม่มีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่สนใจนำเข้า LNG โควต้า 4.8 แสนตันในปี 2564 ทางกระทรวงพลังงานและ กกพ.จึงพิจารณาอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ในฐานะเป็น shipper รายใหม่ นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบราคาตลาดจร ( Spot LNG ) แทน โดยให้นำเข้าได้จำนวน 4 ลำเรือ ปริมาณลำละ 6 หมื่นตัน รวม 2.4 แสนตัน ในช่วง 2 เดือน (ก.ย.-ต.ค.2564) ซึ่ง กฟผ.ได้ดำเนินการนำเข้ามาบางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ยังเหลือโควตานำเข้าอีกประมาณ 2.4 แสนตัน ที่จะเปิดให้นำเข้าได้อีกในช่วง 2 เดือน (พ.ย.-ธ.ค.) ที่เหลือของปี 2564 นี้ โดยเบื้องต้นยังไม่มี Shipper เอกชนรายใดสนใจที่จะนำเข้าเช่นเดิม ดังนั้น กกพ.จึงอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมภายใต้นโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ซึ่งอาจพิจารณาว่าจะให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในฐานะ Shipper รายแรกของประเทศที่มีบทบาทดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน เป็นผู้นำเข้าแทนได้หรือไม่ อีกทั้งภายใต้กติกาการนำเข้ายังกำหนดให้ ปตท.จะนำเข้า Spot LNG ได้ ก็ต่อเมื่อราคาต้องต่ำกว่าราคาก๊าซฯเฉลี่ยรวม (Pool Gas) เท่านั้น

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯระยะที่ 2 ในปี 2564 พบว่า หลักเกณฑ์การนำเข้าในบางส่วน ยังไม่เอื้อให้เกิดความคล่องตัว ทาง กกพ.จึงต้องสั่งการพิเศษเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวขึ้น รวมถึงจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันนำเข้าของ Shipper เอกชน ในปี 2565

เนื่องจากโดยการนำเข้า LNG ของ Shipper ในปี 2564 นี้ ยังไม่ใช่ลักษณะของ นโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ระยะที่ 2 และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันอย่างแท้จริง ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ต้องการให้ Shipper ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดหา LNG เข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับก๊าซในระบบ Pool Gas หรือ ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของราคา LNG เอง

ซึ่งแนวทางดังกล่าว Shipper แต่ละรายจะต้องไปจัดหา LNG ที่เป็นสัญญาระยะกลาง หรือ ระยะยาวที่จะมีราคาก๊าซเฉลี่ยที่ต่ำกว่า Pool Gas โดยหากกลับมาซื้อก๊าซในระบบ Pool Gas เพื่อเสริมความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของตัวเองในบางช่วงเวลา ก็จะต้องซื้อก๊าซในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคา Pool Gas ปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ Shipper รายใหม่เอาเปรียบประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเลือกนำเข้า LNGเฉพาะช่วงที่มีราคาถูกเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์แต่พอ LNG นำเข้าราคาแพง ก็จะกลับมาซื้อก๊าซจากระบบ Pool Gas ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ กพช.ดังกล่าว ทาง กกพ.จะต้องปรับหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริงในปี 2565 ต่อไป

สำหรับปัจจุบัน ประเทศไทย มี Shipper ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซ LNG ได้ ทั้งสิ้น 8 ราย แต่บริษัท ปตท. ถือเป็น Shipper รายดั้งเดิม ที่ยังไม่สามารถใช้โควตานำเข้า LNG 4.8 แสนตันได้ตามเกณฑ์ที่ กพช.กำหนดไว้ โดยอาจต้องปรับหลักเกณฑ์ใหม่หากจะให้ ปตท.นำเข้า

ส่วนที่เหลืออีก 7 ราย เป็น Shipper รายใหม่ แต่ไม่มีรายใดสนใจนำเข้า ดังนั้น กระทรวงพลังงานและ กกพ.จึงให้ กฟผ.นำเข้าแทนบางส่วน แต่ราคานำเข้าLNG ที่นำมาใช้กับโรงไฟฟ้าจะถูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าประชาชนด้วย โดย Shipper รายใหม่ 7 ราย ได้แก่

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG
Advertisment