คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดให้ 6 โครงการใน ERC Sandbox ได้เริ่มทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้จริง เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยมีอัตราค่าเชื่อมต่อและใช้สายส่ง (Wheeling Charge)ที่ 1.151 บาทต่อหน่วย โดยขณะนี้รอเพียงให้แผนปฏิบัติการ(Action Plan) ผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนที่จะสิ้นสุด 14 ต.ค. 2564 นี้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณา แผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับ “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) การทดสอบนวัตกรรมในโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าจริง” แล้ว ซึ่งจะมีการ ผ่อนปรนกฎระเบียบตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยขณะนี้แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งยังสามารถส่งความคิดเห็นมาที่สำนักงาน กกพ. ได้ภายในวันที่ 14 ต.ค.2564 นี้
โดยภายใต้ ERC Sandbox มีโครงการที่จะได้เริ่มทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้ากันได้จริงทั้งสิ้น 6 โครงการ แบ่งเป็น โครงการประเภทกิจกรรม Peer-to-Peer และ Bilateral ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าและขายตรงให้กับเพื่อนบ้าน จำนวน 3 โครงการ โครงการประเภทกิจกรรม Microgrid System จำนวน 1 โครงการ และ โครงการประเภทกิจกรรม อัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing จำนวน 1 โครงการ และ โครงการประเภทกิจกรรม รูปแบบทางธุรกิจใหม่ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง ( Supply and Load Aggregator ) จำนวน 1 โครงการ
ซึ่งแต่ละโครงการจะมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แต่จะเปิดให้ดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจริงระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยที่ กกพ.จะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ผ่อนปรนระเบียบการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เรื่องกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid code) พ.ศ. 2558 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เดินขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมิให้เกิดการจ่ายไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า
2. ผ่อนปรนระเบียบ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ว่าด้วยกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid code) พ.ศ. 2559 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องออกแบบระบบไม่ให้เกิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า รวมทั้งต้องไม่รับกระแสไฟฟ้าจนทำให้ระบบของ PEA เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และ
3. ให้ทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าจริง ตามระเบียบ PEA ว่าด้วยการนำข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม พ.ศ. 2562 และใช้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้า แก่บุคคลที่ 3 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. …. ของ กฟน. มาปรับใช้ พร้อมทั้งให้ใช้อัตราค่าบริการในการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่ กกพ. กำหนด ในอัตรา 1.151 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ผู้ดำเนินโครงการจะต้องรายงานข้อมูลการซื้อ–ขาย เช่น Load Profile ปริมาณการผลิต ผู้เข้าร่วมโครงการ และการใช้ไฟฟ้าของลูกค้า ต้นทุนค่าใช้จ่าย และผลประกอบการทางการเงิน เป็นต้น ต่อสำนักงาน กกพ. ทุกๆ 3 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการดำเนินโครงการ ผู้ดำเนินโครงการจะต้องซื้อขายไฟฟ้าไม่เกินกำลังการผลิตที่จะใช้ทดสอบตามที่ระบุไว้ทุกช่วงเวลาด้วย
โดยการให้ทดลองซื้อขายไฟฟ้าจริงดังกล่าว จะช่วยให้ กกพ.รับทราบอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสมและแนวทางปฏิบัติงานของหน่วยงานการไฟฟ้าที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ รวมถึงแนวทางการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเอกชนและภาครัฐในการจัดหาพลังงานในอนาคต เพื่อนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ที่จะส่งผลให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกลง
ในส่วนของหน่วยงานการไฟฟ้า ก็จะได้ประโยชน์จากการทดสอบระบบโครงข่ายไฟฟ้าปัจจุบัน ในการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่ การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริม ให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงานให้มากขึ้น ในอนาคต
สำหรับภาพรวมโครงการ ERC Sandbox ที่ กกพ. เปิดให้เอกชนดำเนินการมาตั้งแต่ 30 ส.ค. 2562 และมีระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 3 ปี หรือสิ้นสุดประมาณปี 2565 นั้นมีเอกชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 34 โครงการ
โดยโครงการทั้งหมด แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading 2.การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing 3.การศึกษาเทคโนโลยีใหม่เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) 4.การศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ระบบไมโครกริด 5. การศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง ( Supply and Load Aggregator ) และ 6. ก๊าซธรรมชาติ
โดยโครงการที่เริ่มทดสอบระบบและเห็นผลแล้วคือ กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการ Regional LNG Hub ภายใต้ ERC Sandbox โดยเริ่มทำการทดสอบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ ม.ค. 2564 ด้วยการทดลองส่งออก LNG ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ Iso Tank และทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกไปประเทศกัมพูชาและจีน ซึ่งการส่งออกในช่วงดังกล่าวเป็นฤดูหนาวที่มีความต้องการ LNG สูง ราคาตลาดโลกจึงสูงตาม ปตท. จึงได้มีการนำ LNG จากสัญญาระยะยาวไปขายในต่างประเทศ ทำให้เกิดประโยชน์จากการขายเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้ได้มีการส่งคืนให้รัฐเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub และโครงการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด