กกพ.เคาะแล้วค่าไฟโซลาร์ประชาชน 1.68บาทต่อหน่วย ใครยื่นก่อนได้ก่อน

42825
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กางแผนนำร่องรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ ปี 2562   โดย 18 มี.ค.-1 เม.ย. 2562  จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน พร้อมให้โควต้าการไฟฟ้านครหลวงรับซื้อ 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68  บาทต่อหน่วย  ส่วนวิธีการรับซื้อจะใช้ระบบ ใครยื่นก่อนได้ก่อน(First come First serve) ผ่านระบบ Online ของทั้งสองการไฟฟ้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.)กล่าวว่า กกพ. มีแผนการจัดซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็น
วันที่ 18 มี.ค.-1 เม.ย. 2562  กกพ.จะเปิดรับฟังความเห็นโซลาร์ภาคประชาชน
ภายในเดือนมี.ค.-เม.ย. 2562 จะจัดประชาสัมพันธ์ชี้แจงการเข้าร่วมโครงการ
ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2562 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเปิดลงทะเบียนและรับข้อเสนอโครงการ
ตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค.2562 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา
ภายใน ต.ค. 2562 ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
และภายในปี 2562 ต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)

ทั้งนี้ กกพ.จะนำร่องรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์  โดยแบ่งเป็นโควต้าของการไฟฟ้านครหลวง 30 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 70 เมกะวัตต์ สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 1.68  บาทต่อหน่วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมโครงการคือ ภาคครัวเรือน ซึ่งหลักเกณฑ์เบื้องต้นประกอบด้วย
1.ผู้ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า ประเภทที่ 1 (บ้านอยู่อาศัย)
2.มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าน้อยกว่า 10 KWp ต่อมิเตอร์
3.การไฟฟ้าจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี
4.ยอดรวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์
และ 5.COD ภายในปี 2562

- Advertisment -

ส่วนวิธีการรับซื้อจะใช้ระบบ ใครยื่นก่อนได้ก่อน(First come First serve) ผ่านระบบ Online ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ Grid Code ในปัจจุบัน และจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผ่านระบบ Online ของสำนักงาน กกพ.

ในขณะที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและผู้จำหน่ายแผงโซลาร์เซลล์ กว่า  30 ราย เกี่ยวกับนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ว่า กระทรวงพลังงานได้แจ้งให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมแข่งขันในธุรกิจโซลาร์เซลล์ในไทย เนื่องจากภาครัฐได้กำหนดเพิ่มปริมาณการผลิตโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเป็น 12,725  เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 โดยแบ่งเป็นโซลาร์ภาคประชาชน(การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป) จำนวน 10,000 เมะวัตต์  และโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์  ดังนั้นตลาดการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวจะใหญ่ขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อมทั้งเงินลงทุนและบุคลากรการติดตั้งแผง เป็นต้น

นอกจากนี้ภาครัฐต้องการเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เนื่องจากปัจจุบันราคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถูกกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วมาก โดยการส่งเสริมโครงการดังกล่าวจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานหลักในอนาคตได้ต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมการซื้อขายไฟฟ้า(เทรดดิ้ง)โซลาร์เซลล์ในอนาคตหากมีการผลิตในปริมาณมาก

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะนำร่องรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี ก่อน จากนั้นจะส่งเสริมให้เป็นไปตามแผน PDP 2018 ครบ 10,000 เมกะวัตต์ โดยในวันที่ 20 มี.ค. 2562 นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะประกาศรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ระยะที่ 1 นำร่อง 100 เมกะวัตต์ในปี 2562 นี้ โดยจะให้ประชาชน ชุมชน ภาคครัวเรือน หรือ ผู้ประกอบการที่ร่วมมือกับชุมชนดำเนินการและแบ่งปันผลประโยชน์ต่อกัน ก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งจะเป็นโครงการที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กกพ. ประเมินเงินลงทุนในการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ อยู่ที่ 30,000 บาทต่อกิโลวัตต์ (kWp)

Advertisment