กกพ.อัพเดท ERC Sandbox โครงการส่งออก LNG ของปตท. สำเร็จ นำส่งรายได้รัฐกว่า 580 ล้าน

886
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผยความคืบหน้าโครงการทดสอบนวัตกรรม ERC Sandbox ระบุโครงการทดสอบระบบการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading) ของ ปตท. ร่วมกับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ประสบผลสำเร็จและนำรายได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทดสอบดังกล่าวกว่า 580 ล้านบาท ส่งคืนรัฐเพื่อนำไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.64 แล้ว

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้า “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน” หรือ ERC Sandbox ที่ กกพ. เปิดให้เอกชนดำเนินการมาตั้งแต่ 30 ส.ค. 2562 ว่าเอกชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ที่มีทั้งสิ้น 34 โครงการ ได้เริ่มทยอยส่งผลการทดสอบมายัง กกพ. แล้ว และคาดว่าทั้งหมดจะเสร็จสิ้นการทดสอบประมาณปี 2565 เนื่องจากแต่ละโครงการกำหนดเวลาทดสอบไว้ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันเข้าร่วมโครงการ

สำหรับโครงการ ERC Sandbox แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading 2.การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing 3.การศึกษาเทคโนโลยีใหม่เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) 4.การศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ระบบไมโครกริด และ 5. การศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง ( Supply and Load Aggregator ) และ 6. ก๊าซธรรมชาติ

- Advertisment -

โดยกลุ่มที่เริ่มเห็นผลสำเร็จแล้วคือ กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่บริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน ) ดำเนินโครงการร่วมกับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) ใน โครงการ Regional LNG Hub ที่เป็นการทดสอบระบบการดำเนินการส่งออก LNG (Reloading)

โครงการ ดังกล่าว กกพ. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ปตท. และ PTTLNG ได้ลงนามสัญญา Pilot Agreement for Reloading LNG ร่วมกันเพื่อรองรับการดำเนินธุรกรรมส่งออก LNG (Reloading) และได้ดำเนินการส่งออก LNG ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2564 ในปริมาณ 62,449 ตัน โดยไม่เกิดปัญหาอุปสรรคด้านเทคนิค

โดยช่วงเวลาการส่งออกดังกล่าวเป็นช่วงที่ตลาดในภูมิภาคทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีนมีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศหนาว

ในขณะที่โครงการผลิต LNG ในมาเลเซีย ออสเตรเลีย และไนจีเรียเกิดเหตุขัดข้อง และการสัญจรของเรือขนส่ง LNG ผ่านช่องแคบปานามาเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ตลาดเอเชียมีปริมาณเที่ยวเรือเสนอขายลดลง ส่งผลให้ตลาด Asian Spot เกิดภาวะตึงตัวกะทันหันแต่ในภาพรวมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศของไทยกลับลดลงหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID 19 ระลอกใหม่ ที่รัฐบาลกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ ปตท. มีปริมาณสำรอง LNG เพิ่มขึ้น จึงมองเห็นโอกาสการส่งออก LNG จากท่ามาบตาพุดไปยังลูกค้าในภูมิภาคที่มีความต้องการ

โดยราคาขายที่ท่ามาบตาพุดในขณะนั้นอยู่ที่ 14.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ ล้านบีทียู ในประมาณการต้นทุนซึ่งประกอบด้วยต้นทุนเนื้อ LNG ค่าบริการ Reloading LNG Service ค่าภาษีผ่านท่าเทียบเรือ Corporate Tax และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องอยู่ที่ประมาณ 8.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 580 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้นำส่งภาครัฐ และ ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 และ กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้รับทราบการดำเนินการดังกล่าวและให้ กกพ.นำรายได้ที่ส่งให้รัฐไปเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติต่อไป

นายคมกฤช กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการ ERC Sandbox อื่นๆ ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่ได้ลงทุนจริง แต่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือประสานข้อมูลกับทางการไฟฟ้าเพื่อคำนวณความคุ้มค่าและทดสอบการประสานงานด้านเทคนิคต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีการรายงานความคืบหน้าให้ กกพ. ทราบบางส่วนแล้ว

Advertisment