กกพ.ออกระเบียบเปิดทางซื้อไฟฟ้าจากโครงการในสปป.ลาว

1601
sdr
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้า สปป.ลาว พ.ศ. 2563 เน้นการจัดหาไฟฟ้าด้วยวิธีเจรจาในหลักการ  5 ข้อ อาทิ ต้องเป็นโครงการที่ สปป.ลาวเสนอโครงการมายังรัฐบาลไทยภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาไฟฟ้าไทย-สปป.ลาวเท่านั้น, ปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายต้องสอดคล้องกับแผน PDPของไทย, จุดซื้อขายไฟฟ้าต้องอยู่ที่ชายแดนไทยและสปป.ลาว, ค่าไฟฟ้าต้องเหมาะสมเป็นธรรม และมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยกกพ.จะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการ ก่อนเสนอโครงการให้ กกพ.พิจารณาต่อไป   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ออกประกาศระเบียบ กกพ.ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พ.ศ. 2563 สาระสำคัญระบุว่า กกพ.จะจัดหาไฟฟ้าจากโครงการด้วยวิธีเจรจา ภายใต้กรอบนโยบายและแนวทางที่รัฐบาลกำหนด โดย กกพ. อาจตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการ

สำหรับหลักการเจรจาซื้อไฟฟ้านั้น ประกอบด้วย 5 ข้อสำคัญ ได้แก่
1. โครงการที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าต้องเป็นโครงการที่รัฐบาล สปป.ลาว ได้เสนอรายชื่อโครงการมายังรัฐบาลไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาไฟฟ้าระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว

- Advertisment -

2. มีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายและกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบที่เหมาะสม โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) หรือกรอบนโยบายที่รัฐบาลกำหนด รวมทั้งสอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการ

3. มีการศึกษาความเป็นไปได้ในด้านเทคนิคในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้า โดยมีจุดซื้อขายไฟฟ้าที่เขตแดนประเทศไทยและ สปป.ลาว ในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงานต้องมีมาตรฐาน และเป็นไปตามข้อกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) กำหนดตามมาตรา 73 และมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

4. ราคาค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากโครงการมีอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ตามหลักการพิจารณาดังนี้

4.1 เปรียบเทียบจากค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ แทนการสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยตามสมมติฐานต่างๆ ในอนาคต

หรือ 4.2 เปรียบเทียบจากราคาค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว ที่ลงนามสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าแล้ว โดยคำนึงถึงระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ และต้นทุนการก่อสร้างของโครงการที่เสนอ ทั้งนี้ในกรณีที่ กฟผ. ต้องทำการปรับปรุงหรือเสริมระบบไฟฟ้าในประเทศไทย จะนำค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงหรือเสริมระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับโครงการไปพิจารณาร่วมกับราคาค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากโครงการด้วย โดยให้ใช้อัตราสะท้อนต้นทุนส่วนเพิ่มระยะยาว

5. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือตามนโยบายรัฐบาล อาทิ การประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สัดส่วนนักลงทุนเอกชนไทยหรือรัฐวิสาหกิจไทยร่วมลงทุน ความพร้อม และศักยภาพทางการเงินของผู้พัฒนาโครงการ

อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการจะเป็นผู้เสนอผลการดำเนินงานและผลการเจรจาที่เกิดขึ้น ต่อ กกพ. เพื่อพิจารณาเสนอคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือต่อไป

Advertisment