ที่ประชุม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 รับทราบมาตรการเตรียมพร้อมรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทั้ง จากกรณีแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซได้ไม่ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อสัมปทานกับระบบพีเอสซีและผลกระทบของเหตุการณ์การเมืองในเมียนมา หวั่นค่าไฟแพง โดยประสาน กฟผ. ตรวจสอบความพร้อมโรงไฟฟ้าก๊าซฯที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน และ ปตท.ตรวจสอบสถานีรับจ่ายก๊าซฯ LNG ให้เพียงพอ ที่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ในวันที่ 24 มี.ค. 2564 ได้รับทราบการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤติก๊าซธรรมชาติ จาก 2 กรณี ได้แก่ 1.
กรณีการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณไม่ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อของระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีในเดือน เม.ย.ปี 2565 และ 2.กรณีความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยได้
โดยกรณีที่ ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ที่เป็นคู่สัญญากับรัฐภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตที่จะต้องเริ่มผลิตก๊าซตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2565 ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิม เพื่อเข้าพื้นที่สำรวจและผลิตก๊าซฯในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณได้ตามแผนงานนั้น นายคมกฤช กล่าวว่า กกพ.ได้ประสานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการตรวจสอบความพร้อมของโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่มีทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงและสามารถปรับมาใช้น้ำมันเตาหรือดีเซลได้ ให้ทดสอบการเดินเครื่องเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังได้ประสานให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวฯ ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ และรองรับก๊าซฯได้อีกเท่าไหร่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในกรณีที่ต้องนำเข้ามาเพื่อทดแทนก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ และกรณีที่จะเกิดการหยุดจ่ายก๊าซฯจากทางเมียนมาส่งมายังไทย รวมทั้งตรวจสอบระบบท่อก๊าซฯให้พร้อมใช้งานเสมอ เป็นต้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมามีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่สงบมากขึ้น ซึ่ง กกพ.พิจารณาแล้วว่าอาจมีผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซฯมายังไทยได้
ทั้งนี้มั่นใจว่าทั้งสองกรณีจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯ เนื่องจากไทยสามารถนำเข้า LNG มาทดแทนได้ ประกอบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันในช่วงวิกฤติได้เช่นกัน แต่ที่ กกพ.เป็นห่วงคือ การใช้ LNG จำนวนมาก หรือการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซฯอาจมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนให้แพงขึ้นได้ จึงจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเตรียมการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าประชาชนให้มีผลกระทบน้อยที่สุด