กกพ. รับฟังความเห็น “โครงการขยายเขตไฟฟ้าชนบทพื้นที่ กฟภ. ระยะ 5 ปี งบ 6,500 ล้านบาท” ระหว่าง 28 พ.ค.- 11 มิ.ย. 2567

517
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นประชาชน ระหว่าง  28 พ.ค.-11 มิ.ย. 2567 นี้ ใน “โครงการขยายเขตไฟฟ้าด้วยวิธีปักเสาพาดสายให้บ้านเรือนราษฎร ระยะที่ 3 (คฟม. 3) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)” ซึ่งเป็นโครงการระยะ 5 ปี วงเงินลงทุนรวม 6,500 ล้านบาท ตั้งเป้าขยายเขตระบบไฟฟ้าพื้นที่ชนบท 74 จังหวัด 130,000 ครัวเรือน ชี้กระทบค่าไฟฟ้าโดยรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.109 สตางค์ต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “โครงการขยายเขตไฟฟ้าด้วยวิธีปักเสาพาดสายให้บ้านเรือนราษฎร ระยะที่ 3 (คฟม. 3) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)” ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2571 วงเงินลงทุนรวม 6,500 ล้านบาท โดยจะเปิดรับฟังความเห็นประชาชนระหว่าง 28 พ.ค.-11 มิ.ย. 2567 นี้

สำหรับโครงการ คฟม.3 ดังกล่าว เป็นโครงการขยายเขตไฟฟ้าไปสู่พื้นที่ชนบทในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กฟภ. 74 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา การสาธารณสุข ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและชนบท โดยโครงการ คฟม.3 นี้ มีเป้าหมายขยายเขตระบบไฟฟ้าให้บ้านเรือนราษฎรประมาณ 130,000 ครัวเรือน

- Advertisment -

โดย กฟภ. จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการทั้งหมด ด้วยวงเงินลงทุนรวม 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 มีวงเงินที่ใช้ดำเนินการ 700 ล้านบาท , ปี 2568 มีวงเงินจำนวน 1,904 ล้านบาท ,ปี 2569 มีวงเงินจำนวน 1,947 ล้านบาท และปี 2570 มีวงเงินจำนวน 1,949 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินกู้ในประเทศ 75%  และเงินรายได้ กฟภ.เอง 25%  อย่างไรก็ตามโครงการ คฟม. 3 ดังกล่าวนี้ จะมีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.109 สตางค์ต่อหน่วย  

ทั้งนี้การดำเนินโครงการ คฟม. 3 นี้  กฟภ.ได้เริ่มประมาณการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ จากการศึกษาปริมาณการใช้ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัยในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) โดยได้ค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 5.33 หน่วยต่อครัวเรือนต่อวัน  เพื่อพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load curve) ไปในอนาคต 30 ปี  (พ.ศ. 2567-2596) เพื่อหาค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตต่อไป

เบื้องต้นได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และการคัดเลือกพื้นที่ปักเสาพาดสายไฟฟ้า ดังนี้ เป็นบ้านเรือนที่มีวงเงินลงทุนในการปักเสาพาดสายไม่เกิน 75,000 บาทต่อครัวเรือน , เป็นบ้านเรือนราษฎรที่มีทะเบียนบ้าน ที่ตั้งอาศัยอย่างถาวร และมีผู้อยู่อาศัยจริง , ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่หวงห้ามของราชการ และไม่มีปัญหาในการดำเนินการก่อสร้าง, ไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการบ้านจัดสรร ตึกแถว อาคารพาณิชย์ ,มีเส้นทางคมนาคมสาธารณะสะดวก สามารถเข้าไปให้บริการได้ทุกฤดูกาล , เป็นบ้านเรือนที่ได้รับการจัดตั้งหรือการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐ  ทั้งนี้ กฟภ.จะจัดลำดับครัวเรือนเข้าดำเนินการก่อสร้างตามหลักการเงินลงทุนต่ำสุด แต่ให้ผลตอบแทนสูงสุด และความพร้อมในการเข้าพื้นที่ก่อสร้างเป็นหลัก

สำหรับโครงการนี้ได้ดำเนินการโดยสอดคล้องกับมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม กฟภ. จะจัดตั้งสำนักงานโครงการขึ้น ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโครงการ, รองผู้อำนวยการโครงการ, ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการและวิศวกรประจำโครงการ  และติดตามประเมินผลโครงการตลอดช่วงเวลาการดำเนินโครงการ โดยสำนักงานโครงการจะจัดทำรายงานผลความก้าวหน้าทุกระยะ 3 เดือน ส่งให้ผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ. กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงการคลัง เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานต่อไป

Advertisment