กกพ.มีมติตรึงค่าไฟในส่วน Ft อีก4เดือน(พ.ค.-ส.ค.2562)

11157
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ตรึงค่าไฟฟ้าอีก 4 เดือน (พ.ค-ส.ค. 2562) โดยมีมติให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) อยู่เท่าเดิมที่ -11.60 สตางต์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย ระบุใช้เงินบริหารจัดการFt หมดแล้ว หากค่าไฟฟ้างวดถัดไปสูงขึ้นและต้องการตรึงค่าไฟฟ้า อาจต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รับภาระค่าFt แทนไปก่อน

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้คงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2562 อยู่ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย  ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย เท่ากับงวด(ม.ค.-เม.ย. 2562)ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาค่าครองชีพประชาชน

อย่างไรก็ตามการคงค่า Ft ดังกล่าวเกิดจากการนำเงินบริหาร Ft มาช่วยพยุงราคาค่าไฟฟ้างวดนี้ จำนวน 4,576 ล้านบาท (เงินที่ได้จากการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของ 3 การไฟฟ้า ที่ไม่เป็นไปตามแผน) โดยหากไม่นำเงินดังกล่าวมาช่วย ค่า Ft ที่แท้จริงจะสูงขึ้นอยู่ที่ -4.20 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.7136 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

- Advertisment -

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ค่า Ft งวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 62 แท้จริงสูงขึ้น มาจาก “เงินส่วนต่างFtสะสมจากงวดที่แล้ว” ถูกใช้ไปหมดในงวดก่อน(ม.ค.-เม.ย.2562) ทำให้ไม่มีเงินส่วนนี้มาพยุงค่า Ft และทำให้ค่า Ft ปรับขึ้น แม้ต้นทุนเชื้อเพลิงไฟฟ้าต่างๆ จะปรับลดลงก็ตาม โดยปัจจัยต้นทุนด้านเชื้อเพลิงต่างๆ คาดว่าเป็นดังนี้
1. อัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะเท่ากับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ หรือแข็งค่ากว่าช่วง ม.ค. – เม.ย. 2562 ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 4 เดือนอยู่ที่ระดับ 32.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2562 เท่ากับ 67,090 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 62 เท่ากับ 4,615 ล้านหน่วย คิดเป็น 7.39%
3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2562 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.36% รองลงมาเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว  17.58%  ลิกไนต์ และถ่านหินนำเข้า อยู่ที่ 8.74%
4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับ 272.71 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 10.95 บาทต่อล้านบีทียู ราคาลิกไนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,643.13 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 2,594.01 บาทต่อตัน เท่ากับ 49.12 บาทต่อตัน  ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25.79 บาทต่อลิตร เพิ่มจากงวดที่ผ่านมา 0.96 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 18.85 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากงวดที่ผ่านมา 3.09 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 9.54 บาทต่อกิโลกรัม ไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนค่าไฟฟ้างวดถัดไป(ก.ย.-ธ.ค.2562)
จากมติ กกพ. ดังกล่าว สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 7 – 21 มี.ค. 2562 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป

แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า เงินบริหารFt จะถูกใช้หมดแล้วในงวด พ.ค.-ส.ค. 2562 นี้  ดังนั้นหากค่า Ft งวดต่อไปปรับขึ้นและรัฐมีนโยบายจะตรึงค่าไฟฟ้าอีก ก็จำเป็นต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แบกรับภาระแทนไปก่อน แล้วจึงจะจ่ายคืนภายหลัง ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ก็เคยรับภาระแทนในลักษณะดังกล่าวสูงสุดประมาณ 1 หมื่นล้านบาทมาก่อนแล้วเหมือนกัน

Advertisment