กกพ.มอบกฟผ.เจรจา SPP เลื่อนจ่ายไฟเข้าระบบ และมอบ ปตท.เร่งนำเข้าLNG ช่วงราคาถูก หวังลดต้นทุนค่าไฟ

1701
- Advertisment-

บอร์ด กกพ.ซึ่งประชุมวันนี้ (29 เม.ย.2563) รับทราบแนวทางแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงกว่าความต้องการใช้ของปี 2563  จากผลกระทบโควิด-19 โดยมอบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจาโรงไฟฟ้า SPP ให้ชะลอการจ่ายไฟเข้าระบบออกไปเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า พร้อมให้ ปตท.ตรวจสอบสัญญาก๊าซเพื่อลดหรือชะลอใช้ก๊าซฯอ่าวไทย และหันไปเพิ่มนำเข้าก๊าซ LNG ตลาดจร ที่มีราคาถูกกว่า หวังลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ถูกลง โดยทั้ง กฟผ.และปตท. จะนำผลสรุปกลับมาเสนอที่ประชุมบอร์ด กกพ.ในสัปดาห์หน้าอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(บอร์ด กกพ.) วันนี้(29 เม.ย.2563 )ได้รับทราบแนวทางบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในปี 2563นี้ จากมาตรการล็อกดาว์นประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  ที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหลายประเภทต้องหยุดประกอบการ จนปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นและเป็นภาระต้นทุนต่อค่าไฟฟ้า

โดยแนวทางเบื้องต้นที่บอร์ดกกพ.รับทราบเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการคือ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้า มอบให้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไปเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กหรือ SPP(กำลังผลิต10-90 เมกะวัตต์) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. รวมกำลังการผลิตประมาณ 8,756 เมกะวัตต์​ ว่าจะมี SPP รายใดอยู่ในข่ายที่สามารถเจรจาให้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 หรือชะลอไปจนกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนปรับสูงขึ้น โดย หากกฟผ.เจรจาแล้วได้ข้อสรุปว่ามีปริมาณโรงไฟฟ้าที่เลื่อนจ่ายไฟเข้าระบบได้น้อย ทาง กกพ. จะพิจารณาแนวทางอื่นต่อไป

- Advertisment -

สำหรับโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP) กกพ.พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เพราะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่า SPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

ในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ได้มอบให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ไปพิจารณาหาแนวทางลดหรือชะลอการรับก๊าซจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยโดยไม่ให้กระทบต่อสัญญา และให้หันไปซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แบบตลาดจร(Spot) ที่ช่วงนี้มีราคาถูกกว่าก๊าซที่ผลิตได้จากอ่าวไทยมาใช้แทน ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

  ทั้งนี้ในสัญญาซื้อขายก๊าซฯที่มีอยู่ในอ่าวไทย ปตท.อาจจะสามารถเจรจาให้เลื่อนการส่งก๊าซฯอ่าวไทยเป็นปลายปี 2563 แทน เพื่อหันมาใช้ก๊าซLNG ที่มีราคาถูก โดยหากใน 3-5 เดือนข้างหน้า LNG โลกปรับราคาสูงขึ้น จึงค่อยกลับมาเรียกรับก๊าซจากอ่าวไทยให้ได้ปริมาณครบตามสัญญา

โดยทั้ง กฟผ.และ ปตท. จะนำข้อสรุปกลับมาเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด กกพ.สัปดาห์หน้า

สำหรับ ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันที่สูงเกือบ 40% ของกำลังการผลิตนั้น  กกพ. ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้ปริมาณสำรองลดลงได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าที่เข้าสู่ระบบเป็นไปตามสัญญาและตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 ดังนั้นหากจะลดปริมาณสำรองไฟฟ้าดังกล่าวลงจะต้องไปแก้ไขที่แผน PDP แต่ในขณะนี้ กกพ. ดำเนินการได้เพียงการบริหารจัดการให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดเดินเครื่องผลิตไฟเข้าระบบก่อน ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง เช่นโรงไฟฟ้า SPP  ก็จะให้ผลิตไฟเข้าระบบทีหลังหรือให้ชะลอการจ่ายไฟไปก่อน เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป

Advertisment