คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับค่าไฟฟ้าเอฟที งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ไปจนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 นี้ จากนั้นก็จะเคาะตัวเลขออกมาว่าค่าเอฟทีจะต้องปรับขึ้นเท่าไหร่โดยแนะประชาชนรัดเข็มขัดประหยัดการใช้ แทนมาตรการตรึงราคา ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.)นัดประชุมวันพรุ่งนี้ (25 พ.ย.65 )พิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC)รายงานว่า โดย 3 ทางเลือกที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th จนถึงวันที่ 27 พ.ย.65 นี้ประกอบด้วย
กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีปรับขึ้น 224.98 สตางค์ต่อหน่วย โดยมาจาก การประมาณการต้นทุนที่จะต้องปรับขึ้น 158.31 สตางค์ต่อหน่วย บวกด้วยส่วนที่ กฟผ.จ่ายชดเชยให้ไปก่อนบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบทั้งหมดภายใน 1 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 81,505 ล้านบาท
กรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.72 บาทเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 ปรับขึ้นค่าเอฟที จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย โดยลดส่วนที่จะทยอยคืน กฟผ.เหลือ 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดยยังเหลือภาระที่จะต้องทยอยคืน กฟผ. อีกประมาณ 101,881 ล้านบาท
กรณีนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
และกรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดยยังไม่มีการจ่ายเงินคืน กฟผ.ในงวดนี้ทำให้ กฟผ.ต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนไปก่อนจำนวน 122,257 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
ที่ผ่านมาในการคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 กกพ.ก็ใช้วิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นใน 3 ทางเลือกและผลที่ออกมาก็มักจะเลือกทางเลือกที่จะขึ้นค่าเอฟที ที่น้อยที่สุด โดยที่ยังไม่จ่ายคืนส่วนที่ กฟผ.ช่วยแบกรับภาระเอาไว้ให้ก่อน และในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเฉพาะกลุ่มนั้น ทางกระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอเป็นมาตรการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบโดยใช้งบประมาณกลาง ซึ่งการดำเนินการสำหรับค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย.2566 ก็น่าจะออกมาในลักษณะเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ.มีการชี้แจงถึงสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ.ไว้ด้วยว่าจะไม่สามารถช่วยตรึงค่าเอฟที ตามนโยบายของรัฐได้ในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ กฟผ.กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในวงเงินไม่เกิน 85,000 ล้านบาทไปแล้ว
ดังนั้นสำนักงาน กกพ. จึงเรียกร้องให้มีการบริหารการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการนำเข้า LNG ราคาแพงหรือลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นมาก เพื่อให้ประเทศสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับคืนมาได้
สอดคล้องกับเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมาที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการพิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ว่าจะส่งผลให้ราคาLNGในตลาดโลกยังมีความผันผวน จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือน ต.ค – ธ.ค 2565 ซึ่งได้มีการขอความร่วมมือในการประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยหากราคาSpot LNG อยู่ในระดับราคาที่เกินกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน รัฐจะมีการพิจารณาปรับบางมาตรการให้เป็นมาตรการบังคับให้ต้องประหยัดพลังงาน เช่น การกำหนดเวลาเปิดปิดธุรกิจภาคบริการที่ใช้พลังงานสูงเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง การปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟบนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ การปิดสถานีบริการน้ำมันหลังเวลา 23.00 น.
ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการนัดประชุมด่วนในวันที่ 25 พ.ย.65 นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาผลกระทบการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟที ในงวด ม.ค.-เม.ย.66 นี้