กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า พ.ค.-ส.ค. 2566 เล็กน้อย อยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

10276
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 มาอยู่ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายเฉลี่ย 4.77 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งสูงขึ้นจากงวดปัจจุบัน(ม.ค.-เม.ย.2566 )ที่จ่ายอยู่ 4.72 บาทต่อหน่วยในภาคครัวเรือน โดยเป็นการพิจารณาภายหลังเปิดรับฟังความเห็นค่า Ft จาก 3 กรณี ชี้ประชาชนเลือกกรณีที่ 3 มากที่สุด และ กฟผ. เห็นด้วยกับอัตราดังกล่าว     

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประชุมสรุปค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 โดยปรับขึ้นค่า Ft เป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย โดยเป็นราคาเดียวกันทั้งประเทศ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ระหว่าง 10 – 20 มี.ค. 2566 โดยแบ่งค่า Ft เป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 6.72 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 105.25 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.84 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย

โดย  กกพ. ได้พิจารณาเลือกใช้ค่า Ft กรณีที่ 3 เนื่องจากการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนที่ผ่านมาได้เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวมากที่สุด ประกอบกับ กกพ.ได้พิจารณาหนังสือยืนยันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้าที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ประกอบแล้วด้วย

นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน ม.ค. 2566 หากการดำเนินการจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าประมาณการดังกล่าว กกพ. ก็จะนำส่วนต่างค่าใช้จ่ายมาปรับปรุงการคิดค่า Ft ในรอบต่อๆ ไป ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่า Ft

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับกรณีที่ 3  เป็นการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ.จำนวนใน 6 งวด ทำให้ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนประจำงวดเดือนพ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และ เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. บางส่วนจำนวน 34.90 สตางค์ต่อหน่วย (คิดเป็นเงิน 22,781 ล้านบาท) เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี คือเดือน เม.ย. 2568 โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 1% จากระดับ 4.72 บาทต่อหน่วย (ของงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ในปัจจุบัน)

ดังนั้นค่า Ft งวดต่อไปของเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 จะกลายเป็นราคาเดียวกัน ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยเป็นค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับสูงขึ้นจาก 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้ปรับลดลงจาก 5.33 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566  

ทั้งนี้หากย้อนดูค่าไฟฟ้า Ft งวดปัจจุบันเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 นั้น พบว่า กกพ.ได้ปรับค่าไฟฟ้า Ft ภาคครัวเรือนบ้านอยู่อาศัย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย และภาคอุตสาหกรรมค่า Ft อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 5.33 บาทต่อหน่วย

ต่อมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ให้ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเฉพาะภาคครัวเรือน โดยแบ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า Ft ที่ 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้า Ft ที่ 67.04 สตางค์ต่อหน่วย

Advertisment