กกพ. ทบทวนค่าไฟฟ้า เอฟทีใหม่ โดยให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมฯ รับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนภาคครัวเรือนลดลง จากอัตราเดิมที่ต้องจ่าย 190.4 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 154.9 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 35.52 สตางค์ต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้ารวมสำหรับงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จะอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยลดลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ภาคครัวเรือน ยังได้ใช้ค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย
การทบทวนค่าไฟฟ้าใหม่ ของ กกพ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานให้ ปตท. และ กฟผ. ปรับประมาณการสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติ ราคาน้ำมันดีเซล อัตราแลกเปลี่ยน และภาระหนี้คงค้างของ กฟผ. เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจ่ายค่าเอฟที ลดลงจากมติ กกพ.เดิม เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 คือลดลงเหลือ 154.92 สตางค์ต่อหน่วยจากเดิมที่ต้องจ่ายค่าเอฟที 190.44 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้ารวมที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ต้องจ่าย ลดลงเหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยจาก 5.69 บาทต่อหน่วยในรอบบิลค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ ปตท.และ กฟผ.นำเสนอใหม่ ให้ กกพ.พิจารณา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยปรับลดลง จาก 493 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 466 บาทต่อล้านบีทียู หรือลดลง 27 บาทต่อล้านบีทียู
โดยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยยังอยู่ที่ราคาเดิม คือ 237 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคา Spot LNG ปรับลดลงจาก 31.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เหลือ 29.60 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
ราคาน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าปรับลดลงจาก 31.94 บาทต่อลิตร เป็น 28.22 บาทต่อลิตร ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทก็แข็งค่าขึ้น จาก 37 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เป็น 35.68 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
ส่วนภาระหนี้สะสมของ กฟผ.ที่ใช้คำนวณ 122,257 ล้านบาท จะมีการทยอยเรียกเก็บคืนใน 3 ปี จากเดิม 2 ปี ทำให้มีส่วนที่บวกเพิ่มในค่าเอฟทีงวดใหม่ลดลง เหลือ 22.22 สตางค์ต่อหน่วย จากตัวเลขเดิม 33.33 สตางค์ต่อหน่วย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ผลจากมติ กพช.เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2565 ที่ให้จัดสรรก๊าซจากอ่าวไทยหลังเข้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้ กกพ.ไปพิจารณาคำนวณอัตรา นั้น ทำให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคที่อยู่อาศัย ได้ใช้ไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งราคาถูกกว่า Pool Gas และทำให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงส่วนที่เพิ่มขึ้นมาแทน สะท้อนจาก มติ กกพ. วันที่ 28 ธ.ค. 2565 ที่ ภาคบ้านอยู่อาศัย ได้ใช้ค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ได้ใช้ค่าไฟฟ้าที่อัตราแพงกว่าคือ 5.33 บาทต่อหน่วย