สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เปิดเวทีชี้แจง “หลักเกณฑ์การอนุญาตสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” หลังมีผู้สนใจติดตั้งมากขึ้น เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าและต้นทุนการผลิต กกพ. จึงจับมือการไฟฟ้า เตรียมนำระบบดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ คาดเสร็จสิ้นปี 2566 นี้ ช่วยแก้ปัญหาออกใบอนุญาตฯ ล่าช้าได้
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยในเวทีสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจ “หลักเกณฑ์การอนุญาตสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจสีเขียว การลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าประชาชน ตลอดจนการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2611 ตามความตกลงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ( COP26) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก
ดังนั้น กกพ. จึงได้มีการออกระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอนุญาตและกำกับกิจการพลังงาน ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบกิจการ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน
“ที่ผ่านมา กกพ. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาและขั้นตอนการอนุญาตให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยจะนำระบบดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบกิจการพลังงานในการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เพื่อให้การประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของทุกภาคส่วนดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศโดยรวมต่อไป”
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการและประชาชนภาคครัวเรือนสนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ากันมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ถูกลง ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ลดต้นทุนการผลิต และมีสิทธิพิเศษจากการใช้พลังงานทดแทนผลิตไฟฟ้า แต่ที่ผ่านมากระบวนการออกใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้ามีความล่าช้ามาก โดยออกใบอนุญาตได้เพียง 2 รายต่อวัน ดังนั้น กกพ. จึงได้ร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) เพื่อนำระบบดิจิทัลมาช่วยปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น โดยคาดว่าระบบจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 นี้
“กกพ.อยู่ระหว่างนำระบบ IT เข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2566 นี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งน่าจะช่วยลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่างๆ เอื้อให้การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะของกลุ่มบ้านอยู่อาศัยดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น จากปัจจุบัน บ้านอยู่อาศัยจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน และกลุ่มผู้ประกอบกิจการจะอยู่ที่ 60 วัน”
ดังนั้น สำนักงาน กกพ. จึงได้รวบรวมข้อกฎหมายแนวปฏิบัติที่ใช้ประกอบในการขอรับใบอนุญาตที่สำคัญ เช่น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย หลักเกณฑ์การอนุญาตที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติม การขอต่ออายุใบอนุญาต การขอเปลี่ยนแปลงรายการภายหลังที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาให้ความรู้ในการสัมมนาในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพทั้งด้านการให้บริการ การสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ตลอดจนการติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น