กกพ.ขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปถึงปี 2567 ระบุเริ่มขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์

1118
N1022
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขยายเวลา “รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน” จากปี 2565 เป็นปี 2567 ทั้งกลุ่มที่มีสัญญา และไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เนื่องจากต้องการให้มีปริมาณไฟฟ้าเพียงพอ ระหว่างที่รอแหล่งก๊าซฯเอราวัณ กลับมาผลิตได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2567 ระบุตั้งแต่เปิดรับซื้อไฟฟ้าเมื่อปี 2565 กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์ และยังรอคิวเข้าระบบเพิ่มเติมอีกมาก   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ลงนามขยายมาตรการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับการไฟฟ้า” จากเดิมเปิดรับซื้อไฟฟ้าถึงแค่ปี 2565 ได้ขยายเพิ่มเป็นรับซื้อไฟฟ้าถึงปี 2567 แทน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565

การขยายเวลารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อรองรับการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากแหล่งเอราวัณมีกำลังผลิตลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนผู้ดำเนินการผลิตหลังหมดสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 23  เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตามคาดว่าก๊าซฯในแหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตได้เต็ม 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ได้ในปี 2567 (ปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ดังนั้นระหว่างนี้จึงต้องขยายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวไปถึงปี 2567 ด้วย

- Advertisment -

ทั้งนี้เมื่อมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2565 เบื้องต้นพบว่า มีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์ และยังมีอีกหลายรายอยู่ระหว่างขั้นตอนรอเข้าระบบเพิ่มอีก ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะนี้ กกพ.ยังอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ เกิดจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 ที่ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ทำให้ กกพ. ออกประกาศ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565

ต่อมา กบง.เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 ได้สั่งทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มดังกล่าว โดยเห็นชอบกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล หรืออื่นๆ นอกเหนือจากชีวมวล ทั้งสัญญาเดิมและนอกเหนือจากสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และพร้อมจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบของการไฟฟ้าสามารถรองรับได้  โดยเป็นการรับซื้อแบบปีต่อปี ไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm

โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม

ส่งผลให้ กกพ. ออกประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 โดย “เปิดรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า พ.ศ. 2565” โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ขายไฟฟ้าว่า ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับการไฟฟ้า หรือสัญญาสิ้นสุดแล้ว ณ วันที่ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า หรือผู้ที่มีการผลิตเพื่อใช้เองและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 (ล่าสุดได้ปรับแก้เป็นปี 2567) สำหรับรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm) กำหนดสิ้นสุดสัญญาภายใน 31 ธ.ค. 2565 (ล่าสุดปรับแก้เป็น 31 ธ.ค. 2567)

Advertisment