ไทยผลักดัน “ศาสตร์พระราชา” สู่ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ เป็นโมเดลสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่การพัฒนาโลกที่ยั่งยืน
โดยองค์การสหประชาชาติเตรียมที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ “UN Food Systems Summit” โดยจะจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2564 และระดับประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตรและผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า “ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนอาหารมาเป็นเวลาหลายปี แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีผู้ประสบภัยที่ 690 ล้านคน ในปัจจุบันตัวเลขได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 820 ล้านคน รวมถึงราคาอาหารโลกก็มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 8 เดือนติดต่อกัน จึงเป็นเหตุผลให้ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุม UN Food Systems Summit เพื่อผลักดันให้ทุกประเทศมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ถ่ายทอดภูมิปัญญา “ศาสตร์พระราชา”‘ โคก หนอง นา โมเดล สู่ระดับนานาชาติ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความอดอยากที่สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตของประชากรโลกมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลกและที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา และนำแนวทาง ‘โคก หนอง นา โมเดล มาใช้ จะสามารถรับมือกับวิกฤตที่เข้ามาได้อย่างมั่นคง มีผลผลิตเพียงพอบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันให้คนอื่นได้
นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนได้ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และหน่วยงานหลายๆ ภาคส่วน ดำเนิน โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน (ตามรอยพ่อฯ) อย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้นับเป็นปีที่ 9 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการทำเกษตรกรรมและการดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน
ซึ่งเชฟรอนไม่เพียงส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ แต่ยังเข้ามาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีพนักงานของเชฟรอนและครอบครัวกว่า 2,500 คนรวมทั้งตัวผมเองได้เข้าร่วมเรียนรู้และลงมือปฏิบัติร่วมกับเกษตรกรและผู้สนใจกว่า 20,000 คน ในกิจกรรมของโครงการตามรอยพ่อฯ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เข้าใจว่าการทำโคก หนอง นา นั้นช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นได้ในทุกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือแม้แต่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลกก็ตาม