โรงไฟฟ้า SMR ทางเลือกเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้าและ Net Zero Emissions

664
- Advertisment-

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (Small Modular Reactor) ได้รับการบรรจุไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP2024 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2567 ถึง 2580 โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 300 เมกะวัตต์ และควรต้องเริ่มสร้างในปี 2574 เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2580 ซึ่งหมายความว่า รัฐมีระยะเวลาอีกประมาณ 7 ปี ที่จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมไทยมีความเชื่อมั่นว่า SMR จะเป็นเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้าและเป้าหมายการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2065

นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ.

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้จัดเวทีเสวนา “มองต่างมุม SMRs for Net Zero” ภายใต้งาน  อว. แฟร์ เพื่อเผยแพร่มุมมองต่อร่าง PDP2024 โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ในเรื่องโรงไฟฟ้า SMR มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่น่าสนใจคือ มุมมองจาก ศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่าการที่จะมีโรงไฟฟ้า SMR เข้าระบบในปี 2580 ตามร่างแผน PDP2024 นั้น จะต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายในปี 2574 โดย กฟผ. ได้เตรียมการเอาไว้เบื้องต้นแล้ว ทั้งการคัดเลือกสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า ซึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยพิจารณาจากการตอบสนองปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว มีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเดิมรองรับ การจัดหาแหล่งน้ำ รวมถึงการสรรหาเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เนื่องจากเป็นโครงการระดับชาติ เพราะโรงไฟฟ้า SMR เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่

กฟผ. ยังระบุถึงข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR ว่า จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้า SMR จะเป็นโรงไฟฟ้าฐาน (Base Load) ที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถใช้เดินเครื่องร่วมกับพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ในขณะเดียวกันก็มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แข่งขันได้  เนื่องจากใช้เชื้อเพลิงในปริมาณน้อยมากเพราะมีความร้อนสูง (ยูเรเนียม 1 กิโลกรัม สามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่ากับถ่านหิน 100,000 กิโลกรัม หรือ ก๊าซธรรมชาติ 50,000 กิโลกรัม) ทั้งนี้โรงไฟฟ้า SMR ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะใช้แร่ยูเรเนียมเฉลี่ยประมาณ 12 ตันต่อปี ในขณะที่ปริมาณสำรองแร่ยูเรเนียมยังมีอยู่ในปริมาณมากสามารถเลือกซื้อได้จากหลายแหล่ง ทำให้ไม่เกิดการผูกขาดเหมือนก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ราคาเชื้อเพลิงจึงค่อนข้างคงที่ ไม่ผันผวน

- Advertisment -
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในขณะที่ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มองถึงเป้าหมายที่ต้องการจะสร้างเทคโนโลยีรูปแบบ SMR ของประเทศไทยเองแทนที่จะเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว  ซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนต่าง ๆ ต้องร่วมกันหารือและเสนอผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะเดินไปอย่างไร  โดยมองว่า นอกจากจะใช้เทคโนโลยี SMR ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแหล่งพลังงานความร้อนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การผลิตไฮโดรเจน หรือ กระบวนการผลิตน้ำจืดด้วย

รศ.ดร.สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้าน รศ.ดร.สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นความสำคัญโรงไฟฟ้า SMR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทยได้เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป หรือหากต้องเปลี่ยนหรือซ่อมบำรุงก็สามารถเลือกทำเฉพาะโมดูลที่มีปัญหาได้โดยไม่ต้องหยุดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าทั้งหมด อีกทั้งยังมีความปลอดภัยและประหยัดมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้ายุคปัจจุบัน

เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)

สำหรับความพร้อมด้านกฎหมายที่จะมารองรับนั้น เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ระบุว่า ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับอยู่แล้วคือ พระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีการกำหนดหมวดเกี่ยวกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์อยู่แล้ว แต่โรงไฟฟ้า SMR ก็จะมีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ตามที่กฎหมายได้ร่างไว้ จึงต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีและบริบททางกฎหมายของประเทศไทย ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตของสถานประกอบการในการตั้งโรงไฟฟ้า SMR จะใช้มาตรฐานสากลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งของโรงไฟฟ้า การก่อสร้าง การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ

ถึงแม้ว่า SMR จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่หากมองในระดับโลก ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า SMR ที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้า SMR แบบลอยน้ำ ขนาด 70 MWe ตั้งอยู่ที่เมืองชูคอตกา ทางตอนเหนือของประเทศรัสเซีย สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 1 แสนคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ HTR-PM ของประเทศจีน ขนาด 210 MWe ซึ่งเริ่มเดินเครื่องเมื่อปี 2565 สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชนกว่า 3 แสนครัวเรือน

นอกจากนี้หลายประเทศต่างก็มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR ในอนาคต อาทิ ประเทศนอร์เวย์วางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมหรือธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ประเทศแคนาดาตั้งเป้าดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR แห่งแรกภายในปี 2577 และเกาหลีใต้ได้ประกาศร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้า SMR ให้พร้อมใช้งานด้วย ดังนั้นการที่ประเทศไทยได้บรรจุโรงไฟฟ้า SMR ไว้ในร่างแผน PDP2024 และ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นเอาไว้แล้ว จึงสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม แข่งขันได้ และช่วยให้ประเทศมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างยั่งยืน

Advertisment