โรงไฟฟ้าชุมชนQuick Win เข้มเกณฑ์คุณสมบัติ ห้าม กลุ่มSPP Hybrid Firm สวมรอย

4663
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเปิดประชาพิจารณ์หลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทQuick Win กำหนดคุณสมบัติเข้ม 10 ข้อ โดยห้าม โรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm  โรงไฟฟ้าที่สัญญาครบอายุ และ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องสวมรอยเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้า  โดยเอกชนแสดงความเห็นห่วงประเด็น ข้อกำหนดให้จ้างแรงงานเฉพาะจังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้า ไม่เป็นไปตามสถานการณ์ที่แท้จริง และปัญหาผังเมืองใหม่จะทำให้ตั้งโรงไฟฟ้าและขอใบอนุญาต รง.4 ไม่ได้   ด้านปลัดกระทรวงพลังงาน  เร่งออกประกาศรับซื้อไฟให้ทันภายในมี.ค.2563นี้ แต่ปัญหาไวรัสCOVID-19 อาจทำให้ต้องขยายเวลา การจ่ายไฟเข้าระบบหรือCOD ให้กลุ่มโครงการ Quick Win บางรายจากภายในปี2563 เป็นกลางปี 2564 แทน

วันนี้( 13 มี.ค. 2563 )กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ได้จัดเวทีรับฟังความเห็น “(ร่าง) หลักเกณฑ์เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการ Quick Win) หรือโครงการระยะเร่งด่วน” เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 100 เมกะวัตต์ ท่ามกลางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ประเด็นที่น่าสนใจของ “(ร่าง) หลักเกณฑ์เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมเสนอขายไฟในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win คือการกำหนดให้ผู้เสนอขอขายไฟฟ้าต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ 10 ข้อ โดยหากไม่ผ่านเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาทันที

ทั้งนี้เกณฑ์คุณสมบัติที่น่าสนใจ อาทิ การต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐและไม่ใช่โรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ตามประกาศของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูลในโครงการ SPP Hybrid Firm บางราย จะเปลี่ยนรูปแบบโครงการมาเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้ได้อัตราค่าไฟในรูปFeed in Tariff -FiT ที่จูงใจมากกว่า   รวมทั้ง จะต้องไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่สัญญาครบอายุ และ โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง

ผู้เสนอขอขายไฟฟ้าตามโครงการ Quick Win ยังจะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฏหมายไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย มี
จำนวนสมาชิกวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน มีเอกสารผลการตรวจสอบจุดเชื่อมโยงวงจรไฟฟ้าของสายส่งไฟฟ้า และมีเอกสารแสดงหลักฐานผลการรับฟังความเห็นของชุมชนและเสนอหลักฐานการยอมรับของชุมชน  และหากตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีเอกสารเห็นชอบในการตั้งโรงไฟฟ้า จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นต้น

สำหรับ เกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการจะแบ่งเป็นด้านเทคนิค 40 คะแนน และคะแนนด้านผลประโยชน์ 60 คะแนน โดยจะไม่พิจารณาตามดุลพินิจ แต่จะพิจารณาตามข้อเสนอที่เป็นหลักฐานชัดเจนเท่านั้น

สำหรับคะแนนด้านเทคนิค ประกอบด้วยข้อกำหนด 19 ข้อ อาทิ ปริมาณเชื้อเพลิงที่รับซื้อจากวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 80% ต่อปี ใครให้มากกว่าจะได้คะแนนสูงกว่า ,แผนสำรองกรณีเชื้อเพลิงไม่เพียงพอตามแผนประกอบการ, มีเอกสารแสดงว่ามีแหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจขุมชน อยู่ภายในจังหวัดเดียวกับที่ตั้งโรงฟฟ้า และประสบการณ์การผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาคะแนนด้านผลประโยชน์ 60 คะแนน มีด้วยกัน7 ข้อ อาทิ  ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ โดยต้องไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่ถ้าเป็นประเภทผลิตจากแสงอาทิตย์จะต้องไม่น้อยกว่า 50 สตางค์ต่อหน่วย ,เงินพิเศษค่าเชื้อเพลิง โดยผู้ประกอบการต้องทำสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงจากเกษตรกร(contract farming) เช่น เมื่อวิสาหกิจชุมชนทำสัญญาส่งเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิต แต่สามารถส่งวัตถุดิบได้สูงกว่า 80% จะมีโบนัสให้เท่าไหร่ ,ข้อเสนอจำนวนการจ้างแรงงานภายในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้า สำหรับดำเนินงานในการควบคุมและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และเงินพิเศษสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ มีประเด็นที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าบางส่วนมีความกังวลและต้องการให้ภาครัฐนำกลับไปพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ อาทิ 1.หากมีผู้เสนอข้อเสนอที่เกินจริงและมีโอกาสจะดำเนินการไม่ได้ ภาครัฐจะทำอย่างไรเพื่อสกัดกั้นกลุ่มเหล่านี้  2.โครงการที่ผสมผสานเชื้อเพลิง(Hybrid)เพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าลง ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ พพ. ชี้แจงว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ผลิตจากโซลาร์จะต้องส่งให้ชุมชน 50 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนเชื้อเพลิงอื่นได้ 25 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งโครงการในรูปแบบHybrid ชุมชนจะได้ผลตอบแทนมากขึ้น

3.ต้องการให้ภาครัฐปรับข้อกำหนดที่ระบุให้จ้างแรงงานภายในจังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้าเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันแรงงานมาจากหลายจังหวัดและบางพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งต้องการให้ภาครัฐยืดหยุ่นข้อกำหนดนี้ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ และ 4. กฎหมายผังเมืองใหม่ไม่สามารถจัดตั้งโรงงานได้ จึงไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4)ได้ ซึ่งจะกลับไปใช้ใบ รง.4 ของผังเมืองเดิมได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้  ผู้แทนจาก พพ. ระบุว่า ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างถูกต้องเท่านั้นไม่มีข้อยกเว้นใดๆ จึงจะเข้าร่วมโครงการได้

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานคณะอนุกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ตั้งขึ้นตามมติ กพช.

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานคณะอนุกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ตั้งขึ้นตามมติ กพช.กล่าวว่า จะพยายามให้มีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการประเภทQuick Win ให้ได้ภายในเดือนมี.ค. 2563 นี้ และกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)ภายในสิ้นปี 2563

อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าอาจพิจารณาให้ผู้ประกอบการบางรายเลื่อน COD ออกไปเป็นกลางปี 2564 ได้ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าได้

นายกุลิศ กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะแบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1.กลุ่มโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่องที่มีทั้งสิ้น 4 แห่ง ขนาดกำลังผลิตไม่เกินแห่งละ 8 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) 2 โรง ซึ่งแต่เดิมเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ ดำเนินการในจังหวัดยะลาและปัตตานี และเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 2 โรง ดำเนินการที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดเป็นเชื้อเพลิง และที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์
โดยทั้ง 4 โรงดังกล่าวยังคงกำหนดให้ COD ภายในสิ้นปี 2563 เพื่อนำรองและเป็นต้นแบบให้โรงไฟฟ้า Quick Win และโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป รวมทั้งจะได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริงก่อนนำไปปรับใช้กับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนดังกล่าวต่อไป

เฟส 2 คือโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์ ที่กำลังเปิดประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ และเฟส 3 โรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป จำนวน 600 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเปิดประชาพิจารณ์ได้เมื่อใด เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาไวรัสCOVID-19 ทำให้ยากต่อการเปิดให้ประชาชนมาร่วมประชุมเพื่อรับฟังความเห็นพร้อมกันจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่สามารถเปิดได้ทันในปี 2563 เนื่องจากต้องรอให้โครงการ Quick Win ดำเนินการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบให้เสร็จสิ้นก่อน

ในขณะที่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(โฆษก กกพ.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงพลังงานเปิดรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Quick Win เรียบร้อยแล้ว ทาง กกพ. จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์สัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และนำไปเปิดประชาพิจารณ์ภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอต่อบอร์ด กกพ.พิจารณาอีกครั้ง หากผ่านการพิจารณาจะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าชุมชนในโครงการ Quick Winได้ทันที

Advertisment