โรงไฟฟ้าชุมชน ฉบับ ” สุพัฒนพงษ์ ” ลดปริมาณรับซื้อเหลือแค่ 100-200 เมกะวัตต์

4465
cof
- Advertisment-

โรงไฟฟ้าชุมชนฉบับ ” สุพัฒนพงษ์ ” รื้อหลักเกณฑ์เดิมของ “สนธิรัตน์” หั่นปริมาณรับซื้อในช่วงแรกจาก 700 เมกะวัตต์ เหลือ 200 เมกะวัตต์  โดยเป็นการโยกโควต้าโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพ ภายใต้แผนพีดีพี 2018 มาดำเนินการ คาดออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือน พ.ย.2563 นี้ 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ริเริ่มในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพลังงาน  ว่า กระทรวงพลังงานจะมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่  และจะมีการปรับลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวลงเหลือ 100-200 เมกะวัตต์  จากแผนเดิมที่จะแบ่งเป็นประเภท Quick Win  ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ รวม 700 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะได้นำเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ พีดีพี2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯเอาไว้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกครั้ง และหาก ครม.ไม่เห็นชอบแผนดังกล่าว  ก็จะเดินหน้าโครงการโดยไปใช้โควตารับซื้อไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพ   ที่เขียนไว้ในแผนพีดีพี 2018 ฉบับเดิม ปริมาณ 100-200 เมกะวัตต์ แทนได้

- Advertisment -

นายกุลิศ กล่าวว่า การปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯใหม่ ตามนโยบายของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั้น  จะดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนก.ย.2563 นี้  จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประมาณเดือนต.ค. 2563 เพื่อให้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือนพ.ย 2563

สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ต้องปรับใหม่  นายกุลิศ กล่าวว่า จะพิจารณาจากโครงการที่มีสายส่งรองรับ ,การปรับสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างชุมชนกับนักลงทุนใหม่ จากเดิมกำหนดแบ่งสัดส่วนกันประมาณ 10-40% ซึ่งอาจเปลี่ยนเป็นการรับซื้อพืชพลังงานในราคาที่สูงแทน เพื่อให้ประโยชน์ตกสู่เกษตรกร และต้องตรวจสอบว่ามีการทำสัญญาซื้อขายพืชเกษตรกับเกษตรกรจริงหรือไม่ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ได้มีการปรับปรุงรูปแบบหลักเกณฑ์โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ในเบื้องต้น  โดยในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win ที่เคยมีแผนจะรับซื้อไม่เกิน 100 เมกะวัตต์  จะเปลี่ยนเป็นโครงการนำร่อง ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน   ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไปปริมาณรับซื้อ 600 เมกะวัตต์  จะลดปริมาณรับซื้อเหลือเพียง 100 เมกะวัตต์

กรณี โรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)  ที่มีสัญญาContract Farming ที่เดิมให้ทำกับวิสาหกิจชุมชนนั้น ได้ปรับปรุงใหม่เป็นให้ระบุรายละเอียด เช่น ราคารับซื้อขั้นต่ำมาตรฐานเชื้อเพลิง ความชื้น โดยจะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำกับดูแลสัญญาต่อไป

พร้อมกันนี้ได้เพิ่มเรื่องความยั่งยืน โดยกำหนดเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตหากไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอตอนยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกใบอนุญาตหรือกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)

นอกจากนี้การพิจารณาคัดเลือกและประเด็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) นั้น เดิมกำหนด Fixราคาค่าไฟฟ้าและแข่งขันการให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ได้ปรับใหม่ให้ Fix ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนและแข่งขันประมูลราคาค่าไฟฟ้า โดยกำหนดโควตาของแต่ละเทคโนโลยีเพื่อให้แข่งขันกันเฉพาะในกลุ่มเดียวกัน และสุดท้ายการบริหารส่วนแบ่งรายได้นั้น เดิมให้ตั้งกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขึ้น ได้ปรับใหม่ให้ใช้กองทุนหมู่บ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  หลักเกณฑ์ใหม่ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ฉบับ “สุพัฒนพงษ์” นั้น จะไม่เปิดโอกาสให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมลงทุน แต่จะให้ บริษัทเอสเอ็มอีด้านพลังงาน ที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือชุมชน เป็นผู้ร่วมลงทุนแทน

Advertisment