โซลาร์ฟาร์มโครงการใหม่ของ กฟผ.และ SPCG รวม 800 เมกะวัตต์ยังไม่อยู่ในแผนรับซื้อไฟของรัฐ

4808
- Advertisment-

รัฐยังไม่มีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม เพิ่มเติมจากแผน โดยระบุโครงการที่ กฟผ.ร่วมมือกับกองทัพบก นำร่อง 300 เมกะวัตต์ และในส่วนของ SPCG ที่จับมือกับบริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA.) จัดตั้งบริษัท SET Energy จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์  ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้  จนกว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีมติเห็นชอบ ในขณะที่แหล่งข่าวใน กกพ.ระบุการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มโครงการใหม่เข้าระบบ ควรจะเปิดให้ประมูลแข่งขัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้ากับประชาชน 

แหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (กกพ.) ออกมาระบุถึงโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม ขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของโครงการที่ กฟผ.ร่วมมือกับกองทัพบก นำร่อง 300 เมกะวัตต์ และในส่วนของ SPCG ที่จับมือกับบริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA.) จัดตั้งบริษัท SET Energy จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์  ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ว่า  การดำเนินการดังกล่าว จะต้องเป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเท่านั้น ไม่สามารถที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบได้  เนื่องจากตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 รัฐยังไม่มีนโยบายที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มเข้าระบบเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่เป็นการติดตั้งบนหลังคา และโครงการโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่มีบรรจุอยู่ในแผนแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้หากโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ดังกล่าว จะขายไฟฟ้าเข้าระบบหลักได้ จะต้องมีการบรรจุเอาไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่  หรือ PDP2022  ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดทำ  ที่ต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี เสียก่อน ทาง กกพ.จึงจะมีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ตามนโยบาย  โดยเห็นว่าหากมีนโยบายให้รับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มจริง ราคาไฟฟ้าที่รับซื้อจะต้องต่ำกว่า 1.68 บาทต่อหน่วย และต้องเป็นในรูปแบบแข่งขันเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาเท่านั้น เพื่อให้ได้ราคาเสนอขายต่ำสุดและเป็นประโยชน์ต่ออัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

- Advertisment -

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เข้าระบบในปี 2564  มีเพียงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เท่านั้นที่ กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 50 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย  อายุสัญญา 10 ปี โดยเริ่มไปแล้วตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564  ที่ผ่านมา  ส่วนโครงการโซลาร์นำร่อง 50  เมกะวัตต์ สำหรับกลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์, โรงเรียน 20  เมกะวัตต์ และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์ ราคารับซื้อที่ 1 บาทต่อหน่วย ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563  นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า  เมื่อเร็วๆนี้  ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับกองทัพบก (ทบ.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมที่อยู่ในการดูแลของ ทบ. จำนวน 4.5 ล้านไร่ โดยจะเลือกพื้นที่นำร่องโครงการก่อนปริมาณ  300 เมกะวัตต์ รวมถึงกรณีบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCGจับมือกับบริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA.) จัดตั้งบริษัท SET Energy จำกัด เพื่อดำเนินการโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2564-2569 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1  ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) กำหนดให้มีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบได้รวม 9,290 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 ซึ่งน้อยกว่าแผน PDP2018 ฉบับเดิม ที่กำหนดไว้ว่าจะมีปริมาณรวม  12,725 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบแล้วประมาณ 2,849 เมกะวัตต์   ซึ่งส่วนที่เหลือยังไม่มีการระบุถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มบนพื้นดินโครงการใหม่ รวมอยู่ในแผนด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน บริษัท SPCG ชี้แจงถึงการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเฟสแรก 500 เมกะวัตต์  ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EEC ว่าเป็นการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  เมื่อวันที่  6 มี.ค. 2563 ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ EEC โดยมอบหมายให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ( สกพอ.) เสนอกระทรวงพลังงานนำเข้าบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หารือกับกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม  ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะจำหน่ายเฉพาะในพื้นที่ EEC โดยผสมผสานร่วมกับการทำการเกษตรในพื้นที่

ทั้งนี้ในมติ กพอ. ที่รายงานให้ ครม.รับทราบแล้วถือว่ามีผลผูกพัน กับกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นกระทรวงและหน่วยงานที่สำคัญ อาทิ กระทรวงการคลัง  พลังงาน   อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์  คมนาคม  พาณิชย์  ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม   วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แรงงาน  สาธารณสุข  ศึกษาธิการ  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มหาดไทย  กลาโหม  รวมทั้ง สำนักงบประมาณ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

Advertisment