โจมตีน้ำมันซาอุฯ จุดชนวนน้ำมันโลกราคาพุ่ง ด้านไทยดึงกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาหน้าปั๊ม

1565
- Advertisment-

เหตุการณ์ฝูงอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน 10 ลำ เข้าโจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุดิอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันหายไปถึง 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของการผลิตน้ำมันทั้งโลก ความตระหนกจากสถานการณ์ส่งผลราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และปริมาณผลผลิตที่หายไปก็อาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหนีไม่พ้นที่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยให้ปรับขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เปิดประชุมวาระพิเศษในวันนี้ (17 ก.ย. 2562) และมีมติใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาขายปลีกหน้าปั๊ม เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากวิกฤติน้ำมันซาอุฯ ครั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2562 เป็นต้นไป ด้านนักวิชาการมองอาจมีผลกระทบเพียงระยะสั้น

สรุปสถานการณ์วิกฤติน้ำมันซาอุฯ

โรงงานน้ำมันแปรรูปน้ำมัน 2 แห่ง ของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อารัมโค (Aramco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย  ในเมืองบุคยาค ทางภาคตะวันออกของประเทศ ถูกโจมตีด้วยโดรน 10 ลำ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย Abqaiq ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและของโลก สามารถรับน้ำมันได้ราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Khurais ใหญ่เป็นอันดับ 2 สามารถรับน้ำมันได้ราว 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เหตุโจมตีทั้งสองจุดดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรง จนต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว และส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุฯ หายไปราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือผลผลิตจะหายไปราวครึ่งหนึ่ง หรือคิดเป็น 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก จากที่โอเปก (ประเทศในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก) เปิดเผยตัวเลขการผลิตน้ำมันของซาอุฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 62 ทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกำลังการผลิตที่ลดลงจะกดดันปริมาณน้ำมันส่งออกจากซาอุฯ และจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

- Advertisment -
โรงกลั่น Abqaiq ขณะเกิดเพลิงลุกไหม้ ขอบคุณภาพจาก The New York Times

เมื่อเปิดตลาดน้ำมันช่วงเช้าของวันที่ 16 กันยายน 62 สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัสทะยานขึ้นกว่า 11% ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และน้ำมันดิบไนเม็กซ์ปรับตัวขึ้นกว่า 15% ไปแตะที่ 63.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานกว่า 19% แตะที่ 71.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ด้าน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายนนี้ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 57 – 62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 54.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63 – 68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 60.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งจากปัจจัยการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย การส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไปอีก 2 สัปดาห์

ไทยดึงกองทุนน้ำมันตรึงราคาหน้าปั๊ม ลดผลกระทบวิกฤติน้ำมันซาอุฯ

หลังเหตุการณ์โจมตีโรงกลั่นน้ำมันของ Aramco นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวในวันจันทร์ (16 ก.ย. 62)  ยืนยันความพร้อมรับวิกฤตน้ำมันซาอุฯ โดยประเทศไทยมีการเตรียมการรับมือสถานการณ์ ดังนี้

  • ด้าน Supply โดยการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่น เพื่อชดเชยปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากซาอุฯ ซึ่งปัจจุบันไทยนำเข้าประมาณ 170,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ด้านปริมาณสำรอง โดย ณ วันที่ 16 กันยายน 62 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,366 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,193 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 54 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน มีประมาณ 131 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 23 วัน แต่หากรวมการใช้ LPG ภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งแล้วจะทำให้จำนวนวันสำรองที่ใช้ LPG ได้อยู่ที่ 12 วัน
  • ด้านราคา โดยประเมินเบื้องต้นด้วยการทำแบบจำลองสถานการณ์ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อประมาณ 1 สัปดาห์ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หากยืดเยื้อ 2 – 6 สัปดาห์ ราคาจะปรับขึ้น 5-15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ล่าสุด คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่นายสนธิรัตน์ รมว. กระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เปิดประชุมวาระพิเศษในวันนี้ (17 ก.ย. 2562) และเห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกคุมราคาน้ำมันไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ลดอัตราการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับกลุ่มเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 62   

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบโดยอิงราคาน้ำมันดิบดูไบ หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันในประเทศ โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 65.25 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือน จะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯอุดหนุนรวมประมาณ 2,500 ล้านบาท

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯมีเงินในบัญชีประมาณ 39,000 ล้านบาท ซึ่งการลดการจัดเก็บเงินนำส่งเพื่อตรึงราคาหน้าปั๊มนี้ จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ เกิดภาวะเงินไหลออกในอัตรา 813 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมกองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลเข้า 1,200 ล้านบาทต่อเดือน นายสนธิรัตน์ยังกล่าวยืนยันด้วยว่าเงินกองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่กว่า 39,000 ล้านบาท สามารถดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ในระยะยาว โดยยังสามารถตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือนไว้ระดับเดิมที่ 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมได้ต่อไป

แต่หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นไปถึง 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้นอีก 2 บาทต่อลิตร ภาครัฐก็อาจมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ต้องให้ผู้บริโภคแบกรับภาระส่วนหนึ่งด้วย แต่หากราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงเหลือประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็จะปล่อยให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยอาจจะไม่ปรับลดราคาหน้าปั๊ม

นักวิชาการพลังงานมองผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ‘มนูญ ศิริวรรณ’ มองเหตุโจมตีโรงกลั่นในซาอุฯ จะมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันของไทยในระยะสั้น และอาจกระทบไม่มากนัก เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันของไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์เป็นหลัก และปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่งในประเทศแถบตะวันออกกลาง ไม่ได้ผูกขาดเพียงซาอุฯ รายเดียว ขณะเดียวกันมองว่าหลายประเทศในกลุ่มโอเปก มีความสามารถผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาทดแทนส่วนที่จะขาดหายไปจากกรณีซาอุฯ ได้ จึงไม่น่าจะสร้างความผันผวนด้านราคาและการขาดแคลนน้ำมันดิบในโลกมากนัก

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบของสถานการณ์ในซาอุฯ ต่อเศรษฐกิจไทยโดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีที่ซาอุดีอาระเบียไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกจะสูงขึ้นในระยะสั้น และจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับเดิม ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉพาะในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2562 และ 2) กรณีที่ซาอุดีอาระเบียใช้ความรุนแรงตอบโต้ ราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2562  โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวในระดับที่สูงขึ้นในกรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศขยับขึ้นมาที่ระดับใกล้เคียง 30 บาทต่อลิตร และจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2562 และกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisment