โครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายในแต่ละเดือนตามบิลที่เรียกเก็บนั้น ประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง มีหลักการคิดคำนวณอย่างไร ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในความโปร่งใสของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่ง ก็คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. นั่นเอง
โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าจะประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) โดยค่าไฟฟ้าฐานจะคำนวณมาจากต้นทุนการผลิตจัดหา ส่งและจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นการลงทุนด้านไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ในอนาคตของประเทศ ส่วนค่า Ft เป็นส่วนที่นำค่าเชื้อเพลิงการผลิต ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และค่าใช้จ่ายตามนโยบายที่เกิดขึ้นจริง มาปรับปรุงค่าไฟฟ้าฐาน ทุก 4 เดือน เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนสะท้อนต้นทุนให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กกพ. กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะปรับทั้งในส่วนค่าไฟฟ้าฐานและค่า Ft ใหม่ โดยเฉพาะโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศในส่วนของค่าไฟฟ้าฐานนั้น ถูกใช้มาเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่ เดือน พ.ย.2558 ซึ่งคาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะสามารถประกาศใช้จริงได้ในปี 2562 และการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่นี้ จะช่วยให้เกิดการคำนวณต้นทุนของ 3 การไฟฟ้าสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น
ในปัจจุบัน ค่าไฟฟ้าฐานจัดเก็บอยู่ในอัตรา 3.7556 บาทต่อหน่วย โดยเป็นอัตราคงที่จนกว่า กกพ. จะมีการพิจารณาปรับค่าไฟฟ้าฐานของประเทศใหม่ ซึ่งปกติจะดำเนินการทุก 3-5 ปี และเราจะได้เห็นค่าไฟฟ้าฐานใหม่กันในปีหน้าอย่างที่กล่าว สำหรับค่า Ft ปกติ กกพ. จะพิจารณาและประกาศให้ประชาชนทราบ ทุก 4 เดือน ล่าสุดมีการประกาศออกมาแล้วว่า งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2561 อยู่ที่ -15.90 สตางค์ต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ จะต้องนำข้อมูลแผนการลงทุนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ของกระทรวงพลังงาน ที่อยู่ระหว่างจัดทำเช่นเดียวกัน มาประกอบการพิจารณา โดยการทบทวนหรือปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้น จะยังคงเป็นอัตราเดียวกันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน (Uniform Tariff) ยกเว้นธุรกิจ บนเกาะ และผู้ใช้ไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงค่าบริการรายเดือนที่การไฟฟ้าเรียกเก็บรวมในบิลค่าไฟฟ้าทุกเดือน เช่น บ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ในอัตรา 38.22 บาท/เดือน (ไม่รวม VAT) ให้สะท้อนต้นทุน
พร้อมกันนี้ กกพ. จะมีการทบทวนค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจำหน่ายให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle – EV) และการให้บริการผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าเอกชนด้วย เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจในอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ความสำคัญของการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าประเทศใหม่ในครั้งนี้ นอกจากจะปรับเพื่อให้สะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แท้จริงและเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนแล้ว ยังเป็นการปรับเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพลังงาน โดยเฉพาะการเข้ามาของรถ EV และการปรับตัวของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หันไปผลิตไฟฟ้าใช้เอง และต้องการขายเข้าระบบ (Prosumer) มากขึ้นด้วย จึงต้องติดตามความคืบหน้า ว่า กกพ. ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ที่เพิ่งมีประกาศแต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2561 นั้น จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่ออย่างไร