แนวโน้มดี คาดรัฐกับเชฟรอนได้ข้อยุติปัญหาแหล่งก๊าซเอราวัณ ภายใน ส.ค.นี้

1160
- Advertisment-

ประเด็นการรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในกลุ่มแหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อาจจะได้ข้อยุติในเร็วๆนี้ หากเชฟรอน สหรัฐอเมริกา แจ้งตกลงยอมรับ​ในหลักการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำเสนอด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศ​ที่ดีต่อการลงทุนระหว่างรัฐและเชฟรอน ในส่วนของการดำเนินธุรกิจในแหล่งสัมปทานที่เหลืออยู่ในประเทศไทย รวมถึงการมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา​ ที่ประเมินว่ามีศักยภาพด้านปิโตรเลียมสูงตามสิทธิ์​ที่บริษัทเคยได้รับ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน ( Energy News Center-ENC​)​ รายงานว่า ในการเจรจาระหว่างผู้บริหารกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กับผู้บริหารระดับสูงของเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในแหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย.2565 หรืออีกประมาณ 9 เดือนข้างหน้านี้ ครั้งล่าสุด หลังจากที่มีการเจรจาร่วมกันมากว่า 30 ครั้งในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทางผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่ามีแนวโน้มที่ดี และน่าจะได้ข้อยุติในหลักการภายในเดือนสิงหาคม 64 นี้

โดยกรมเชื้อเพลิง​ธรรมชาติยื่นข้อเสนอที่ผ่อนปรนและเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ที่จะให้เชฟรอน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ยอมรับในหลักการที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม 142 แท่น ที่รัฐยังเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ตามสัดส่วนที่เชฟรอนได้ใช้งาน และภาระการรื้อถอนส่วนที่เหลือจะเป็นของเอกชนผู้รับสัญญารายใหม่คือบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ที่ถือหุ้นร่วมกันกับบริษัทย่อยของ มูบาดาลา ปิโตรเลียม ของสหรัฐ​อาหรับเอมิเรตส์​

- Advertisment -

ทั้งนี้กรมฯจะพิจารณาผ่อนปรนแนวทางและวิธีการรื้อถอนแท่นตามที่ทางเชฟรอนเสนอ เพียงแต่ต้องไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีอำนาจอนุมัติให้ได้ ซึ่งจะช่วยให้เชฟรอนลดภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนลงไปได้พอสมควร

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอให้ทางเชฟรอน ที่สหรัฐอเมริกา ให้คำตอบกลับมา คาดว่าน่าจะเป็นภายในเดือน ส.ค. 64 นี้ ซึ่งถ้าเชฟรอน ตอบยอมรับให้หลักการข้อเสนอดังกล่าว ก็จะมีการเจรจากันต่อในรายละเอียดของแผนการรื้อถอน รวมทั้งให้มีการยื่นวางหลักประกันการรื้อถอนให้กับรัฐ ตามจำนวนที่มีข้อยุติร่วมกัน

ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีความหวังว่าทาง ผู้บริหารของเชฟรอน สหรัฐอเมริกา​ ที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องนี้ จะเข้าใจถึงบทบาทการทำงานของภาครัฐที่ต้องยึดหลักกฏหมาย และมองเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันทั้งสองฝ่ายในอนาคตมากกว่าการมีข้อขัดแย้งกับรัฐไทยที่จะต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน

โดยการยอมรับหลักการในเงื่อนไขที่รัฐผ่อนปรนมากขึ้น จะทำให้เกิดบรรยากาศ​ที่ดีต่อการลงทุนระหว่างรัฐและเชฟรอน ในส่วนของการดำเนินธุรกิจในแหล่งสัมปทานที่เหลืออยู่ในประเทศไทย รวมถึงการเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา​ ที่ประเมินว่ามีศักยภาพด้านปิโตรเลียมสูงตามสิทธิ์​ที่บริษัทเคยได้รับ ก่อนที่จะมีประเด็นข้อพิพาทกับทางกัมพูชา ที่คาดว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา น่าจะมีความคืบหน้าและมีแนวโน้มที่ดีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามหาก เชฟรอน สหรัฐอเมริกา ปฏิเสธข้อเสนอของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยไม่ยอมรับในหลักการ ภาระการรื้อถอนแท่นผลิต ตามกฏหมายไทย ก็จะทำให้กระบวนการในอนุญาโตตุลาการที่ ทางเชฟรอน สหรัฐอเมริกา​ยื่นฟ้องรัฐไทย เมื่อเดือน ต.ค. 2563 และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการเตรียมทีมกฏหมาย และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดี ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจาก ครม.กว่า 450 ล้านบาท เดินหน้าต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการรื้อถอนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้ ปตท.สผ.อีดี และผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นผู้รับสัญญารายใหม่ ยังไม่กล้าเข้าไปติดตั้งแท่นผลิตใหม่จำนวน 8 แท่นล่วงหน้าตามแผน แม้ว่ารัฐได้แจ้งแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ ซึ่งทำให้เมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 23 เม.ย.65 จะทำให้การผลิตก๊าซจากแหล่งกลุ่มเอราวัณ ไม่ต่อเนื่อง และผลิตได้ต่ำกว่าข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐที่ไม่น้อยกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยคาดว่าปริมาณก๊าซที่ผลิตได้หลังวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและเริ่มใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตจะเหลืออยู่ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยก๊าซส่วนที่ขาดไปดังกล่าวภาครัฐได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะให้ ปตท.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG มาทดแทนแล้ว โดยตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะเป็นเท่าไหร่นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติน่าจะแจ้งให้ ปตท.ทราบได้ประมาณปลายปี64 นี้

Advertisment