คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แจงอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 1.151 บาทต่อหน่วย เป็นการทดลองใช้ภายใต้โครงการ ERC Sandbox ของ กกพ. เพียง 2 ปี ยังไม่ใช่อัตราจริงที่จะประกาศใช้เป็นการทั่วไปในเชิงพาณิชย์ ระบุยังไม่ได้รับหนังสือจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ขอให้มีการทบทวน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กกพ.ยังไม่ได้รับหนังสือจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ที่ขอให้ กกพ.พิจารณาทบทวนอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 1.151 บาทต่อหน่วย ที่ใช้ทดลองใน “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ในการทดสอบนวัตกรรมโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าจริง”
โดยยืนยันว่าราคา Wheeling Charge ที่ 1.151 บาทต่อหน่วยดังกล่าว เป็นเพียงอัตราที่นำมาทดลองใน ERC Sandbox สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือ Peer-to-Peer (P2P) ว่าจะสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่อย่างไรเป็นระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น ไม่ได้มีการประกาศใช้เป็นการทั่วไปในเชิงพาณิชย์ กับเอกชนและประชาชนโดยทั่วไป
โดยในส่วนของอัตรา Wheeling Charge ที่จะใช้กับประชาชนทั่วไปนั้น ทาง กกพ.อยู่ระหว่างศึกษาตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่กำหนดให้ กกพ. ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไฟฟ้า และประกาศใช้อัตรา Wheeling Charge ภายในปี 2568
ซึ่งตามขั้นตอนการจัดทำ จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย
ทั้งนี้ในอัตรา Wheeling Charge 1.151 บาท ที่ทดลองใช้ถือเป็นราคาต้นทุนที่ไม่มีใครได้หรือเสียประโยชน์
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า แผนปฏิบัติการ(Action Plan)สำหรับ“โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) การทดสอบนวัตกรรมในโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าจริง” ได้ปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนี้ กกพ.เตรียมรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดเพื่อปรับแก้ไขรายละเอียดที่เหมาะสมก่อนจะให้เอกชนเริ่มทำการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าจริงใน ERC Sandbox ต่อไป
สำหรับโครงการ ERC Sandbox ดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยต้องดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจริงระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยโครงการที่ซื้อขายไฟฟ้าจริงมีทั้งสิ้น 6 โครงการ แบ่งเป็น 1. โครงการประเภทกิจกรรม Peer-to-Peer และ Bilateral ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าและขายตรงให้กับเพื่อนบ้าน จำนวน 3 โครงการ, 2.โครงการประเภทกิจกรรม Microgrid System จำนวน 1 โครงการ, 3.โครงการประเภทกิจกรรม อัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing จำนวน 1 โครงการ และ 4. โครงการประเภทกิจกรรม รูปแบบทางธุรกิจใหม่ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง ( Supply and Load Aggregator ) จำนวน 1 โครงการ โดยมีเอกชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ทั้งสิ้น 34 โครงการ