ประเด็นการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 ยังคงอยู่ในความสนใจของคนในแวดวงพลังงานว่า ในที่สุดแล้วรัฐคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัทผู้รับสัมปทานทั้งในแหล่งเอราวัณและบงกช จะเดินไปสู่กระบวนการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการ หรือจะจับมือเจรจากันเพื่อให้ได้ข้อยุติกันด้วยดีทั้งสองฝ่าย
โดยประเด็นสำคัญที่ภาครัฐและผู้รับสัมปทานยังมีความเห็นไม่ตรงกัน คือ ความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ในส่วนที่ส่งมอบให้รัฐ ซึ่งในกฎกระทรวงระบุลงไปในรายละเอียด ให้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นส่วนของสิ่งติดตั้งต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว หรือในส่วนของสิ่งติดตั้งต่างๆ ซึ่งรวมถึงแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่รัฐรับมอบเอาไปเพื่อใช้ประโยชน์ต่อในอนาคต
แต่ฝั่งของผู้รับสัมปทานนั้นเห็นว่า ควรจะยึดถือข้อตกลงในสัญญาสัมปทานคือ ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเฉพาะที่รัฐสั่งให้รื้อถอนออกไปเท่านั้น ส่วนแท่นผลิตใดที่รัฐเห็นว่าเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปแล้วจะมีความคุ้มค่า และรัฐได้รับมอบไปโดยที่ผู้รับสัมปทานไม่คิดมูลค่า ควรเป็นการโอนขาดไปทั้งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ผู้รับสัมปทานไม่ควรที่จะต้องมีภาระผูกพันที่จะต้องรื้อถอนอีก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับสัญญาสัมปทานอื่นๆ ที่หน่วยงานรัฐของไทยทำไว้กับเอกชน เช่นสัญญาสัมปทานทางด่วน ทั้งนี้ในสัญญาสัมปทานที่รัฐตกลงไว้กับเอกชนตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินการสำรวจและผลิตเมื่อปี 2515 จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ได้เขียนระบุเอาไว้ แต่รัฐมาเขียนเพิ่มเติมไว้ในกฎกระทรวงเมื่อภายหลัง และก็เป็นประเด็นที่เอกชนผู้รับสัมปทานได้ทำหนังสือแจ้งคัดค้านอย่างเป็นทางการไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรื้อถอน ทั้งส่วนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ กฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ซึ่งออกในช่วงที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็พบว่าในประเด็นที่รัฐและเอกชนยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ยังมีการเขียนเปิดช่องเอาไว้ให้รัฐคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเจรจาหาทางออกกับผู้รับสัมปทาน โดยระบุเอาไว้ในหมวด 4 เรื่องการส่งมอบสิ่งติดตั้ง ในข้อ 22
ดังข้อความว่า “ผู้รับสัมปทานยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ได้ส่งมอบแล้วตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทาน” ซึ่งหมายความว่า หากทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและผู้รับสัมปทาน มีข้อตกลงร่วมกันเป็นอย่างอื่น เช่น การร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนตามสัดส่วนระยะเวลาการใช้ประโยชน์ หรือ การให้ผู้รับสัมปทานไม่ต้องรับภาระการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐรับมอบไปโดยกำหนดเงื่อนไขบางประการร่วมกัน ก็สามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎกระทรวง
และหากทั้งสองฝ่ายยอมหันหน้าเจรจากัน ตามแนวทางที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงานคนปัจจุบัน วางแนวเอาไว้โดยไม่ต้องไปถึงกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ก็เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุน และจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ อย่างที่ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อุ เคยให้ความเห็นไว้ว่า กรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมระหว่างรัฐกับเอกชนผู้รับสัมปทาน จะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศหรือไม่ อย่างไรนั้น อยู่ที่ว่ารัฐและเอกชนจะเจรจากันอย่างไรให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรม และจะยอมกันได้แค่ไหน ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายและสัญญาที่ทำระหว่างกันสำหรับกรณีข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนผู้ลงทุน
ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายที่เขียนเปิดช่องเอาไว้ให้ จะเห็นว่าการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยผู้รับสัมปทานนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่ในรายละเอียดเรื่องแท่นผลิตบางแท่นที่รัฐต้องการและรับมอบไปใช้ประโยชน์ต่อนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งก็อยู่ที่ว่าทั้งรัฐและผู้รับสัมปทาน จะใช้ช่องทางที่เปิดไว้อย่างจริงใจ บนหลักของความเป็นธรรมกันแค่ไหน? จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด