บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเสนอตัวสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดประมาณ 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคใต้ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เฟส2 ในภาคตะวันออก รองรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่ภาครัฐกำลังจัดทำแผนการผลิตและใช้ไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค
นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโกฯ ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพลังงานเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อแสดงความพร้อมในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดประมาณ 800 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ภาคใต้ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เฟส 2 ที่จ.ระยองด้วย เพื่อรองรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP ฉบับใหม่ของประเทศที่ภาครัฐมีนโยบายกำหนดการผลิตไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาคของประเทศ
โดยในส่วนข้อเสนอความพร้อมการก่อสร้างโครงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเห็นว่า เป็นภูมิภาคที่จะมีปัญหาความมั่นคงไฟฟ้า และจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งทางเอ็กโกฯ ยังมีพื้นที่เหลือจากการสร้างโรงไฟฟ้าขนอมทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่หมดอายุ จ.นครศรีธรรมราช ที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯได้อีก 1 โรง และหากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ทางเอ็กโกฯคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างเพียง 4 ปี ก็จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ส่วนวงเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ประมาณ 6-7 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อเมกะวัตต์
ในขณะนี้ข้อเสนอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เฟส 2 ที่จ.ระยอง ยังไม่สามารถสรุปว่าจะเป็นขนาดกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์หรือไม่
สำหรับการยื่นหนังสือแสดงความพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง2แห่งดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ภาคเอกชนหลายรายได้ส่งหนังสือแสดงความสนใจสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับแผนPDP ฉบับใหม่ไปยังกระทรวงพลังงานเช่นกัน ดังนั้นเอ็กโกฯ ซึ่งมีแผนงานและความพร้อมอยู่แล้ว จึงต้องทำหนังสือยื่นข้อเสนอถึงภาครัฐเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน เช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) (โรงไฟฟ้าขนาด 10-90 เมกะวัตต์) ของเอ็กโกฯ จะหมดอายุ 4 โรง ใน 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค,นิคมอุตสาหกรรมสระบุรี,นิคมอุตสาหกรรมสมุทรปราการและนิคมอุตสาหกรรมระยอง นั้น นายจักษ์กริช กล่าวว่า ทางเอ็กโกฯ ได้แจ้งและหารือกับลูกค้าไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน
โดยเอ็กโกฯยังรอความชัดเจนจากนโยบายของกระทรวงพลังงานต่อกรณีโรงไฟฟ้า SPP หมดอายุว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อนำมาพิจารณาว่าคุ้มกับการลงทุนในอนาคตหรือไม่ หากไม่คุ้มค่าอาจจะยกเลิกโครงการที่หมดอายุและมองหาการลงทุนใหม่ต่อไป