เอกชนแห่ร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด กกพ.เตรียมแนะนำการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า 4 พ.ย.65

1033
cof
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยเอกชนสนใจ “โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์” แห่ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อไฟฟ้ามากถึง 3 เท่าของปริมาณการรับซื้อ กกพ. เตรียมเปิดสัมมนาออนไลน์ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ในวันที่ 4 พ.ย. 2565 นี้ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวนรวม 5,203 เมกะวัตต์ว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 – 28 ต.ค. 2565 มากถึง 3 เท่าของปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าที่กำหนดในครั้งนี้  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ,โซลาร์เซลล์รวมแบตเตอรี่ และพลังงานลม แต่ต้องรอความชัดเจนจาก 3 การไฟฟ้าอีกครั้ง เนื่องจากพื้นที่สายส่งที่บางรายยื่นขออาจมีการทับซ้อนกัน ทำให้ตัวเลขออกมามากเกินจริง 

ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกนั้น เนื่องจากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 ได้กำหนดกรอบราคารับซื้อพลังงานทดแทนแต่ละประเภทออกมาแล้ว ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องเป็นไปตามมติ กพช. โดยจะพิจารณาจากความพร้อมของโครงการก่อน หากโครงการใดที่มีความพร้อมมากที่สุดก็จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า กกพ.เตรียมจัดสัมมนาออนไลน์เรื่อง “การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 สำหรับผู้ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในวันที่ 4 พ.ย. 2565 เวลา 13.30-16.00 น. เพื่อให้คำแนะนำเบื้องต้นในการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า

ทั้งนี้จะมีการให้ข้อมูลด้านการเตรียมความพร้อมการรับซื้อไฟฟ้าให้กับผู้ที่ยื่นขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ทั้งด้านขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้า,คำเสนอขายไฟฟ้า,การใช้ระบบบริหารจัดการคำเสนอขายไฟฟ้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อไฟฟ้า, การวางหลักประกันการยื่นเสนอขายไฟฟ้าและเงื่อนไขสัญญาขายไฟฟ้า 

สำหรับประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน, ประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย),ประเภทพลังงานลม และประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า5,203  เมกะวัตต์

โดยทั้ง 4 ประเภทกำหนดกรอบเวลาเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังนี้ 1. การไฟฟ้าจะออกประกาศให้ยื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่าง 3-28 ต.ค. 2565 นี้  2.เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสาร ผ่านระบบ RE Proposal ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th) ระหว่าง 4-25 พ.ย. 2565 นี้ 3. กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายใน 15 มี.ค. 2566 จากนั้นจะให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป (ดูกรอบเวลาได้ที่เว็บไซต์ กกพ. www.erc.or.th )

ส่วนรายละเอียดการเปิดรับซื้อไฟฟ้าแต่ละประเภท กำหนดไว้ดังนี้ 1. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ที่ใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีววิทยาแบบไม่ใช้อากาศภายในบ่อหมัก เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา ที่ไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า ( Non-Firm) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่มีจำนวนไฟฟ้าเสนอขายระหว่าง 10-90 เมกะวัตต์  หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ที่มีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์  และมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

นอกจากนี้ได้กำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 335 เมกะวัตต์ โดยแบ่งปีสำหรับเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบดังนี้ ปี 2569 จำนวน 75 เมกะวัตต์ , ปี 2570 จำนวน 75 เมกะวัตต์ ,ปี 2571 จำนวน 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์  

2. พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือ VSPP โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  และกำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2568-2573 ปีละ 250 เมกะวัตต์

3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญา Non-Firm จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP หรือVSPP โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  และกำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบ ดังนี้ ปี 2567 จำนวน 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 จำนวน 290 เมกะวัตต์ , ปี 2569 จำนวน 258 เมกะวัตต์ , ปี 2570  จำนวน440 เมกะวัตต์ , ปี 2571 จำนวน 490 เมกะวัตต์ , ปี  2572 จำนวน 310 เมกะวัตต์ และ ปี  2573 จำนวน  390 เมกะวัตต์

และ 4. พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เท่านั้น โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี  โดยเปิดรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์

โดย มติ กพช. เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 กำหนดอัตรารับซื้อ FiT พลังงานหมุนเวียน สำหรับปี 2565-2573 ได้แก่ 1.) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) อัตรา 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี  2.)พลังงานลม อัตรา 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี 3.) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี  

และ 4.) กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จะรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ในรูปแบบสัญญา Partial-Firm (แบ่งตามช่วงเวลาและปริมาณขายไฟฟ้า) ที่ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ อัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี

สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี ) ให้ได้รับอัตรา FiT Premium 0.5 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ

ส่วนสัญญา Partial-Firm คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่กำหนดรูปแบบการผลิตและรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1.ช่วงเวลา 9.00-16.00 น. ผลิตไฟฟ้าส่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณ 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  2.ช่วงเวลา 18.01-06.00 น. มีความพร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปริมาณพลังงานเท่ากับ 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยที่การไฟฟ้ารับซื้อทั้งหมดและสามารถสั่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสูงสุดได้ไม่เกิน 60% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 3. ช่วงเวลา 06.01-09.00 น. และ 16.01-18.00 น. ผลิตไฟฟ้าสั่งจ่ายเข้าระบบและการไฟฟ้ารับซื้อในปริมาณไม่เกิน 100% ของปริมาณไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

Advertisment