เอกชนแนะรัฐลดขั้นตอนอนุมัติโรงไฟฟ้าจากขยะ คาด PDP ใหม่เพิ่มโควตารับซื้อ

976
- Advertisment-

เวทีสัมมนาทางเลือกทางรอดโรงไฟฟ้าขยะ แนะคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะตามความพร้อมของโครงการ แทนการเปิดรับซื้อตามรอบเวลา พร้อมจัดอันดับสายส่งให้โรงไฟฟ้าขยะก่อน ชี้การเปิดรับฟังความเห็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะรัฐต้องกำหนดเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่จริงเท่านั้น และต้องลดขั้นตอนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องลงเพื่อให้เกิดความสะดวกในการก่อสร้าง คาด PDP ใหม่จะเพิ่มโควต้าซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 800-1,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน การพัฒนาโรงไฟฟ้าจากขยะในไทย ยังมีอุปสรรคในเรื่องการจัดการขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 2 ต.ค. 2561 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาเรื่อง “ทางเลือก ทางรอด โรงไฟฟ้าขยะ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา 4 คน ได้แก่ น.ส. เสวิตา ถิ่นสันติสุข กรรมการประสานงานต่างประเทศ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการพิเศษ และอดีตรองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP และ นายเชาวน์ นกอยู่ กรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

น.ส. เสวิตา ถิ่นสันติสุข กรรมการประสานงานต่างประเทศ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน  ส.อ.ท. กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของการสร้างโรงไฟฟ้าขยะปัจจุบัน เกิดจากมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมากถึง 10 หน่วยงาน 15 ใบอนุญาต ส่งผลให้มีขั้นตอนและกฎระเบียบมากเกินไป อีกทั้งการใช้ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดปี พ.ศ. 2560 ขาดความคล่องตัว ดังนั้น เอกชนต้องการให้ภาครัฐลดจำนวนหน่วยงานรัฐ รวมถึงลดขั้นตอนการขออนุญาตจัดการขยะและสร้างโรงไฟฟ้าลง พร้อมทั้งให้ใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการพ.ศ. 2558 แทน

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดปี 2560 อยู่ แนวทางที่ดำเนินการได้เหมาะสมที่สุดคือต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนตามรายการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice หรือ COP) โดยให้คณะกรรมการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติโครงการ

นอกจากนี้ ให้ กกพ. รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ในลักษณะที่โครงการใดมีความพร้อมให้เสนอโครงการได้ โดยไม่ต้องรอให้ กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าตามรอบ เหมือนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลม และต้องจัดสายส่งให้กับโรงไฟฟ้าขยะเป็นอันดับแรก ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้น และต้องสามารถใช้ได้ทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมไม่อันตราย

พร้อมกันนี้ควรจัดสรรให้ชุมชนมีส่วนได้เสียกับโรงไฟฟ้าแทนการมีเพียงส่วนร่วมอย่างเดียว และในการทำประชาพิจารณ์จะต้องกำหนดไว้สำหรับคนในพื้นที่จริงๆ ที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อจะได้ความเห็นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง

น.ส. เสวิตา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้นไทยต้องปรับตัวที่จะนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน โดยโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องแล้วจะต้องบำรุงรักษาตามรอบเพื่อยืดอายุโรงไฟฟ้าและเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะที่กลุ่ม NGO ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลชาวบ้าน ควรให้ข้อมูลที่ทันต่อยุคสมัย เนื่องจากหลายครั้งพบว่ามีการนำข้อมูลโรงไฟฟ้าเก่าที่สร้างมลพิษมาแสดงต่อชาวบ้าน ทั้งที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สูง

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการด้านกิจการพิเศษ กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 (AEDP) กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ รวมอยู่ที่ 550 เมกะวัตต์ในปี 2579 แต่ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าขยะที่มีข้อผูกพันกับรัฐแล้ว 55 โครงการ กำลังผลิตราว 447 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะ เพราะมีปริมาณขยะอีกราว 23 ล้านตันต่อปีที่ยังไม่ได้นำไป กำจัด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะในประเทศไทยยังมีอุปสรรค ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา ดังนี้

1. เตรียมความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการกำจัดขยะ 2. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน โดยไม่ควรมองว่าเป็นการเอาขยะไปเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ แต่ควรเน้นไปที่การกำจัดขยะที่จะช่วยลดปัญหาด้าน สิ่งแวดล้อมและมีปริมาณไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ 3. ผู้ประกอบการจะต้องเข้มงวดในเรื่องของเทคโนโลยีเตาเผาขยะ ที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่หน่วยงานกำกับ เช่น กกพ. และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องติดตามประเมินผลโรงไฟฟ้าและเตาเผาขยะที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้

นอกจากนี้  ยังเสนอให้ภาครัฐศึกษานำต้นแบบ “โตเกียวโมเดล” ที่ใช้พัฒนาโรงไฟฟ้าขยะในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เนื่องจากวางแนวทางปฏิบัติไว้ชัดเจน โดยเริ่มจากกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกขยะ การรวบรวมขนย้ายขยะ การแยกขยะอีกครั้งที่หน้าโรงงานก่อนนำไปเผาด้วยเทคโนโลยีต่างๆตามความเหมาะสม และสุดท้ายต้องมีกระบวนการกำจัดขี้เถ้า เช่น ฝั่งกลบ หรือ นำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดแนวทางที่ครอบคลุมทั้งหมดนี้

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน TPIPP กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยถือว่ามีความชัดเจนในนโยบายกำจัดขยะ โดยนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากการประเมินศักยภาพของปริมาณขยะที่มีอยู่ สามารถนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ราว  2,000 เมกะวัตต์ แต่คงเกิดขึ้นได้ไม่ทุกพื้นที่

ดังนั้น คาดว่าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ มีโอกาสจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้เป็น 800-1,000 เมกะวัตต์ในปี 2580 ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ที่ปัจจุบันกำหนดรับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(VSPP) อยู่ที่ 5.08 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ถือว่าเหมาะสมแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องมีค่ากำจัดขยะเข้ามาร่วมด้วย โดยมองว่าในแต่ละพื้นที่ควรกำหนดค่ากำจัดไม่ต่ำกว่า 400-800 บาทต่อตัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อบริหารจัดการตามเป้าหมายของภาครัฐ

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กล่าวว่า โครงการ Quick Win จำนวน 8 พื้นที่ 12 โครงการ กำลังผลิต 77.9 เมกะวัตต์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดพื้นที่ไว้ และ กกพ.กำหนด COD ในปี 2562 ขณะนี้หยุดดำเนินการหมดแล้ว เพราะไม่สามารถทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดระบบแก๊สซิฟิเคชันที่สูงเกินไป (ระบบการเผาขยะให้เป็นแก๊สเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า) ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

“อย่างไรก็ตาม มองว่า อีกแนวทางที่จะช่วยกำจัดขยะ คือไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขยะในทุกพื้นที่ หรือทุกจังหวัด แต่อาจเป็นการตั้งโรงงานแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refused Derived Fuel – RDF) ในพื้นที่ แล้วค่อยส่งไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในจังหวัดอื่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนดำเนินการได้” นายวรวิทย์กล่าว

นายเชาวน์  นกอยู่ กรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดขยะมูลฝอยต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้น การกำจัดขยะด้วยการนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะนอกจากจะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้ประโยชน์จากไฟฟ้าด้วย

สำหรับปัจจุบัน 5 ประเทศที่เผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานได้มากที่สุดได้แก่ เดนมาร์ค สวิสเซอร์แลนด์​ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสเปน  โดยมีโรงงานที่เปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานมากกว่า 600 แห่งใน 35 ประเทศ ซึ่งในเอเชียและยุโรปมีการเติบโตของโรงงานดังกล่าวสูงขึ้น เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการมีพื้นที่เหลือน้อย รวมทั้งการมีแหล่งทรัพยากรพลังงานไม่มาก

Advertisment