ภาคเอกชน รอพบรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ถกแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล

1252
- Advertisment-

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ถกปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนไม่เกิดปัญหาหยุดชะงัก จากการที่รัฐไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในช่วง3ปีนี้ แนะรัฐมองมิติการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนจากการขายเชื้อเพลิงชีวมวลให้โรงไฟฟ้า มากกว่ามองแค่ต้นทุนค่าไฟฟ้า

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส.อ.ท. เตรียมจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว เพื่อชี้แจงให้รับทราบถึงสถานการณ์พลังงานและปัญหาของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี2561-2580 (PDP 2018) มีความชัดเจนว่า การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของเชื้อเพลิงชีวมวลช่วงปลายแผนปี2580 จะอยู่ที่ 4,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และจะทยอยหมดอายุลงเหลือ 1,200 เมกะวัตต์ในปี 2580 ดังนั้น จะมีปริมาณรับซื้อเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ภายในปี2580

โดยในช่วง 3 ปีนี้ รัฐยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลโครงการใหม่ๆ แม้ว่าในแผนPDP 2018 จะกำหนดส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐฯ 120 เมกะวัตต์ และชีวมวล 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ก็เป็นการกำหนดรับซื้อเฉพาะบางพื้นที่และมีปริมาณไม่มากนัก

- Advertisment -

“ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายหยุดรับซื้อไฟฟ้าใน 3 ปีนี้ แต่มองว่าประเทศจะเสียโอกาสจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เงินลงทุนราว 50-60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น จากการซื้อขายวัตถุดิบการเกษตรป้อนโรงไฟฟ้า”

ดังนั้น การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เป็นไปตามแผนPDP ฉบับใหม่ และดูแลผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลในช่วงที่รัฐหยุดรับซื้อไฟฟ้า มองว่า ภาครัฐควรเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานซื้อขายไฟฟ้า(Third Party Access: TPA) หรือเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า เพื่อปลดล็อคให้เกิดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างหน่วยงานเอกชนกับเอกชน (Private PPA)ได้ ซึ่งจะทำให้เอกชนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อซื้อขายกันเองได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้า  ขณะเดียวกันผู้ซื้อกับผู้ขายยังสามารถตกลงกันได้ในราคาที่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ทำให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าหยุดชะงักลง

นายนที กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบการเสนอราคาแข่งขัน(Bidding ) แต่ในส่วนของเชื้อเพลิงชีวมวลนั้น รัฐควรกำหนดประเภทของวัตถุดิบบนพื้นฐานต้นทุนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมที่สุด และการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ควรมองแค่มิติค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว หรือ ห่วงว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง แต่ควรพิจารณาให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนต้องการเห็นนโยบายด้านพลังงานที่มีความต่อเนื่องและไม่ส่งผลให้การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมพลังงานของเอกชนสะดุดลง

Advertisment