เอกชนกว่า 20 รายจ่อลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ รอ กกพ.ออกประกาศรับซื้อ

2490
- Advertisment-

เอกชนกว่า 20 รายได้รับไฟเขียวจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ AEDP2018 รอเพียงนโยบายจากกระทรวงพลังงานว่าจะเปิดรับซื้อรอบเดียวหรือทยอยรับซื้อ โดยให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้มีผลในทางปฎิบัติ โดยตามแผนโครงการทั้งหมดจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กกพ.ได้หารือกับกระทรวงพลังงาน เกี่ยวกับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มเติมอีก 400 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (Alternative Energy Development Plan 2018 หรือ AEDP2018) ที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอีก 44 เมกะวัตต์

โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนโรงไฟฟ้าขยะกว่า 20 ราย ที่ผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทยและได้แจ้งเรื่องมายัง กกพ.แล้ว แต่ กกพ.ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากตามขั้นตอนต้องให้กระทรวงพลังงาน กำหนดนโยบายและแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนว่าจะเปิดรับซื้อทั้งหมด 400 เมกะวัตต์ ภายในครั้งเดียวหรือทยอยเปิดรับซื้อ เพื่อให้ กกพ.ที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย

- Advertisment -

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์นั้น ยังไม่มีการหารือใดๆกับทางกระทรวงพลังงาน เนื่องจากจะต้องเร่งดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนก่อน  ทั้งนี้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบัน หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ระบุให้โรงไฟฟ้าขยะชุมชนทั้ง 400 เมกะวัตต์จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2565

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ และยังเหลือค้าง ที่อยู่ระหว่างรอเข้าระบบ อีก 100 เมกะวัตต์ ทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าที่มีปัญหาต่างๆ ทำให้เข้าระบบล่าช้า และกลุ่มที่อยู่ใน “โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก หรือโครงการ Quick Win” ที่ กกพ.อนุมัติไว้ 11 โครงการ ปริมาณที่รับซื้อได้ รวม 68.90 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (SCOD) ภายใน 31 ธ.ค. 2562 ซึ่งกลุ่มนี้ติดปัญหาด้านพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ทำให้ยังเข้าระบบไม่ได้หมด

ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่ผ่านมาแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนนั้นได้มีการแบ่งบทบาทกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย โดย กระทรวงพลังงานจะเป็นผู้จัดทำแผนและกำหนดนโยบายรวมทั้งแนวทางการรับซื้อ เพื่อให้ กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย แต่ในส่วนการพิจารณาคัดเลือกว่าเอกชนรายใดจะได้สิทธิขายไฟฟ้าเข้าระบบ จะเป็นบทบาทของกระทรวงมหาดไทย

สำหรับแผน AEDP 2018 นั้น มีการกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวม 18,696 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 52,894 ล้านหน่วย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ณ ปี พ.ศ. 2580 เป็น 34.23% ซึ่งมากกว่าแผน AEDP2015 ที่ตั้งไว้ที่ 20.11% ในปี พ.ศ. 2579 ได้แก่

1.พลังงานแสงอาทิตย์ มีเป้าหมายกำลังผลิตที่ 9,290 เมกะวัตต์
2.พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ กำหนดเป้าหมายไว้ 2,725 เมกะวัตต์
3.ชีวมวล กำหนดเป้าหมายไว้ 3,500 เมกะวัตต์
4.พลังงานลม กำหนดเป้าหมายไว้ 1,485 เมกะวัตต์
5.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)กำหนดเป้าหมายไว้ 183 เมกะวัตต์
6.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)กำหนดเป้าหมายไว้ 1,000 เมกะวัตต์
7.ขยะชุมชน กำหนดเป้าหมายไว้ 400 เมกะวัตต์
8.ขยะอุตสาหกรรม กำหนดเป้าหมายไว้ 44 เมกะวัตต์
9.พลังน้ำขนาดเล็ก กำหนดเป้าหมายไว้ 69 เมกะวัตต์

 

 

Advertisment