เสนอรัฐขยับขึ้นเพดานคุมดีเซลเป็น 34 บาทต่อลิตร เพื่อให้กองทุนน้ำมันชดเชยราคาได้นานขึ้น

671
N4027
- Advertisment-

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แนะรัฐขยับเพดานราคาดีเซลเป็น 34 บาท และลดภาษีน้ำมันลงเหลือ 1-2 บาทต่อลิตร ด้าน ปตท.ชี้ราคาน้ำมันโลกมีโอกาสแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2565 ระบุจับตาการประชุมกลุ่มโอเปคลุ้นเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันพรุ่งนี้ ในขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมกู้เงินเติมสภาพคล่องเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีก 20,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยหากราคาน้ำมันโลกไม่ทะลุเกิน 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลจะดูแลได้ถึง เม.ย.2565

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา“เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564 ว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันแพงมาจาก 7 ข้อคือ 1.ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น 2.ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน,เก็บภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม

3.กฎหมายการสำรองน้ำมันทำให้ต้นทุนผู้ผลิตสูงขึ้นและส่งต่อมายังผู้บริโภค 4.การผสมพืชพลังงานในน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาพืชพลังงาน

- Advertisment -

5.การกำหนดให้โรงกลั่นปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐานยูโร3 เป็นยูโร 4 ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 6.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และ7.ค่าการกลั่นและค่าการตลาดที่มีลักษณะการแข่งขันเสรี

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงจะพบว่าหากไม่มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนใดๆ หรือเรียกเก็บภาษี ราคาน้ำมันจะลดลงได้ 10 บาทต่อลิตร แต่ประเทศชาติก็จะขาดรายได้ ขณะเดียวกันถ้าวันนี้ภาครัฐไม่นำเงินกองทุนน้ำมันฯมาอุ้มราคาดีเซลไว้ ราคาดีเซลจะปรับเป็น 33-34 บาทต่อลิตร

ดังนั้นเพื่อให้การดูแลราคาน้ำมันมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขยับเพดานราคาดีเซลใหม่ จากเดิมตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก็ควรขยับเป็นตรึงราคาไม่ให้เกิน 34 บาทต่อลิตรแทน เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯมีเสถียรภาพดูแลราคาดีเซลได้นานขึ้น 2.ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 1-2 บาทต่อติลร จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ 5 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันโลกลดลงแล้วจึงกลับมาเรียกเก็บเงินใหม่ และ3.ลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ 5%

ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 5 พ.ย. 2564 เพื่อขอปรับลดการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันที่ส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลง 5 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ 10 สตางค์ต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกที่ยังทรงตัวระดับสูง(ณ วันที่ 2 พ.ย. 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 83.42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 84.72 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล)

โดยยืนยันว่าการขอปรับลดการจัดเก็บเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องสำหรับการนำเงินไปสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ที่แต่ละปีคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 กระทรวงพลังงานได้ปรับสัดส่วนน้ำมันกลุ่มดีเซลใหม่ ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลลดลง โดยมีราคาห่างกันเพียง15-25 สตางค์ต่อลิตร แบ่งเป็นราคาดีเซล ถูกกว่า ดีเซลB7 เพียง 15 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมราคาต่างกันถึง 3 บาทต่อลิตร และดีเซลB20 ถูกกว่าดีเซลB7 เพียง 25 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมราคาต่างกันถึง 3.25 บาทต่อลิตร (ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 3 พ.ย. ดีเซลราคา 29.54 บาทต่อลิตร ,ดีเซลB7 ราคา 29.69 บาทต่อลิตรและดีเซลB20 ราคา 29.44 บาทต่อลิตร)

สำหรับปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เหลือเงินสุทธิ 7,144 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อเดือนตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้จนถึง ธ.ค. 2564 นี้ แต่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นคาดว่าจะยืดเวลาดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรได้จนถึง เม.ย. 2565 ด้วยเงื่อนไขราคาน้ำมันดิบตลาดโลกไม่เกิน 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้จะพิจารณากู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลัก และคาดว่าเงินกู้จะเข้ากองทุนน้ำมันได้ประมาณเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565

นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงปัจจุบันอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตรและมีแนวโน้มจะขึ้นถึง 34 บาทต่อลิตรได้ แต่กระทรวงพลังงานยังคงตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรอยู่ ส่วนกรณีที่กลุ่มรถบรรทุกเรียกร้องให้ปรับลดราคาดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตรนั้น จากการศึกษาพบว่า หากต้องปรับลดราคาดีเซลลงถึง 9 บาทต่อลิตร จะต้องใช้เงินกองทุนฯอุดหนุนราคาถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าเงินกองทุนฯไม่สามารถแบกรับภาระขนาดนั้นได้ ดังนั้นจึงเลือกดูแลภาพรวมประเทศเป็นหลักโดยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งไทยใช้แนวทางนี้มา 15 ปีแล้ว พร้อมกันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ ที่มีตัวแทนจากกรมธุรกิจพลังงาน, กรมการค้าภายในและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ราคาไบโอดีเซลอย่างใกล้ชิด เพื่อการปรับเปลี่ยนส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สำหรับในส่วนของการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น ยืนยันว่าภาครัฐยังตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปจนถึง ม.ค. 2565 แม้ปัจจุบันราคา LPG จะขึ้นไปถึง 390-400 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมก็ตาม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้นำเงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังมาดูแลราคา LPG ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินสำหรับดูแลราคาน้ำมันในประเทศโดยตรงแทน

นอกจากนี้ภาครัฐยังได้เตรียมผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ในประเทศมากขึ้น โดยภายในเดือน ธ.ค.2564 นี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติจะออกแพ็กเกจการส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศ โดยเฉพาะการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าจาก 2,000 แห่งในปัจจุบันให้มีมากขึ้นเป็น 12,000 แห่งภายใน 10 ปีจากนี้

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจค้าปลีกระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าราคาน้ำมันจนถึงต้นปี 2565 จะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 80-90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่อาจขยับขึ้นไปแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลช่วงต้นปี 2565 ได้ หากกลุ่มโอเปคไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน บวกกับสภาพอากาศหนาวทำให้หลายประเทศเก็บสต๊อกน้ำมันมากขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวผลักดันให้ราคาน้ำมันโลกขยับถึง 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ แต่ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2564 ราคามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากผ่านพ้นจุดของความต้องการใช้น้ำมันสูงสุดไปแล้ว

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นในปัจจุบันคือ ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่งประสบภัยธรรมชาติทำให้กำลังการผลิตน้ำมันหายไปส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามต้องจับตากลุ่มโอเปคที่จะประชุมกันในวันที่ 4 พ.ย. 2564 ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 4 แสนบาร์เรลต่อวันหรือไม่ จากปัจจุบันโอเปคผลิตน้ำมันอยู่ 27.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 30% ของความต้องการทั้งหมดทั่วโลก

นอกจากนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ยังเพิ่มสูงขึ้นจากกรณีรัสเซียผู้ผลิตก๊าซฯยังไม่สามารถส่งก๊าซฯผ่านท่อก๊าซฯจากรัสเซียไปเยอรมันเพื่อขึ้นไปจำหน่ายในยุโรปได้ เนื่องจากยุโรปยังไม่อนุมัติ ประกอบกับจีนกำหนดนโยบายลดปัญหาโลกร้อน โดยให้ปรับขึ้นราคาถ่านหินในประเทศ และหันไปซื้อ LNG แทน ทำให้ราคาถ่านหินโลกพุ่งสูงขึ้น และทำให้ความต้องการ LNG โลกสูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้ราคาขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 68-99 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ 75-85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า กองทุนน้ำมันฯ ยังควรมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันระยะสั้นเท่านั้น เพราะหากไม่มีเงินไว้แทรกแซงราคาน้ำมันในช่วงราคาผันผวนสูงเช่นขณะนี้จะส่งผลกระทบไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าปรับสูงขึ้น แต่ในระยะยาว 5-10 ปี ควรปล่อยให้ราคาขายปลีกน้ำมันเคลื่อนไหวตามต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้เห็นด้วยที่ควรจะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันแพงในช่วงนี้ แต่หากจะให้ปรับลดราคาดีเซลเหลือเพียง 25 บาทต่อลิตร หรือเท่ากับลดภาษีน้ำมัน 5 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้รายได้รัฐหายไป 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามากเกินไปสำหรับสถานการณ์ภาครัฐที่จัดเก็บภาษีได้น้อยลงและต้องกู้เงินมาใช้ในปัจจุบัน ส่วนการช่วยเหลือประชาชนเห็นว่าควรช่วยเหลือตามกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

Advertisment