เวทีรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 37 บรรลุความร่วมมือสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน  

753
- Advertisment-

เวทีรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 บรรลุความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอาเซียน โดยจะเดินหน้าผลักดันการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี หวังสร้างสมดุลระบบส่งไฟฟ้า และก่อตั้งศูนย์กำกับดูแลการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ในอนาคต พร้อมตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 23% ภายในปี 2568 ยืนยันอาเซียนจะต้องพัฒนาและก้าวหน้าไปพร้อมกัน โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง   

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงสรุปการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ซึ่งหลังการหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายหลักในการผลักดันให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านพลังงาน และยังได้หารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation 2016 – 2025 (APAEC)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ขณะเดียวกัน ยังผลักดันความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ลาว-ไทย–มาเลเซีย ในระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า LTM-PIP จาก100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามระหว่างกันในปี 62 ซึ่งการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีจะช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบสายส่งไฟฟ้า ส่งเสริมรายได้แก่ประเทศทางผ่าน และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศอื่น ๆ ที่นำไปสู่การก่อตั้งศูนย์กำกับดูแลการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ในอนาคต

- Advertisment -

พร้อมกันนี้ จะผลักดันให้อาเซียนใช้พลังงานทดแทนสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 23% ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 68 จากปัจจุบันที่ใช้พลังงานทดแทนรวม 14% เนื่องจากอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยจะผลักดันให้อาเซียนซื้อขายพลังงานทดแทนในสายส่งไฟฟ้าอาเซียนได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาเครือข่ายเชื้อเพลิงชีวภาพภายในภูมิภาค รวมถึงผลักดันให้มีการตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานอย่างมีความท้าทายมากขึ้น โดยปี 63 จะต้องลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 20% จากปี 60 บรรลุผลได้แล้วที่ 21.7%

สำหรับเวทีการประชุมต่าง ๆ อาทิ การประชุม AMEM +3 ในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 16 เป็นการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานร่วมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยยืนยันว่าอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น มีความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในด้านพลังงาน ทั้งยังแสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนความร่วมมือ ASEAN กับประเทศคู่เจรจาบวก 3 และเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดแผน APAEC ระยะที่ 2 ในปี 2021 – 2025 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2020 และยังคาดหวังให้เกิดความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนา และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคาร์บอนรีไซเคิล โดยได้เน้นย้ำให้มีการระดมทุนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมร่วมกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) โดยได้รับทราบความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น และความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก ตลอดจนความร่วมมือผลักดันการซื้อขายพลังงานในภูมิภาค การแปลงพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า และบทบาทของพลังงานทดแทน ทั้งนี้ในปีนี้ ยังมีการมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งปีนี้มีทั้งหมด 98 รางวัล แบ่งเป็น 5 สาขา ดังนี้ 1) สาขาถ่านหินสะอาด 2) สาขาอนุรักษ์พลังงาน 3) สาขาพลังงานทดแทน 4) สาขาการบริหารจัดการด้านพลังงาน และ 5) รางวัลประเภทบุคคลดีเด่นด้านพลังงาน

“เชื่อว่าผลลัพธ์และผลสำเร็จของการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสนธิรัตน์กล่าว 

Advertisment