เล็งดึงโควต้า SPP Hybrid Firm ที่ยังไม่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟกว่า 100 MW มาทำโรงไฟฟ้าชุมชน

1507
cof
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เล็งดึงโควต้าโครงการ SPP Hybrid Firm ที่ไม่สามารถลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันตามกำหนด ประมาณ 100 เมกะวัตต์ มาดำเนินการภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน โดย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อยกเลิกสัญญาโครงการกับกลุ่มดังกล่าวให้เสร็จใน 30 ต.ค. นี้ ส่วนหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ คาดเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์ โดยเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ปลายเดือน ต.ค. นี้ เพื่อขออนุมัติกรอบปริมาณการรับซื้อไม่เกิน 150 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังพิจารณา ยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA ) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ.ได้ทันภายใน 13 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากผู้ร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 17 ราย รวมกำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ แต่มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ โดยให้ กกพ.พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 ต.ค. 2563 นี้ และนำกลับมารายงาน กบง.อีกครั้ง

ทั้งนี้การยกเลิกสัญญาดังกล่าว จะส่งผลให้มีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm เหลือประมาณ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจนำมาจัดสรรใหม่ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ทันที โดยไม่ต้องรอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 (ที่บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผน) ที่ยังไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

- Advertisment -

ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP Hybrid Firm เป็นโครงการภายใต้ PDP 2018 เดิม ที่สามารถนำโควต้าที่เหลือไปดำเนินการเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนแทนได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการที่ลงนาม PPA ไม่ทันตามกรอบเวลา 13 ธ.ค. 2562 ว่า กกพ.จะถูกฟ้องร้องหรือไม่และสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไร เนื่องจากเป็นเพียงการผิดสัญญาลงนาม PPA แต่ยังไม่ผิดสัญญาการขายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ที่กำหนดให้ SCOD ภายในปี 2564 ประกอบกับมติ กบง.ที่ผ่านมา อนุมัติให้ กกพ.ไปพิจารณาขยายเวลา SCOD ให้กับกลุ่มดังกล่าวจากปี 2564 เป็นปี 2565 ด้วย

พร้อมกันนี้ กกพ.ต้องพิจารณาว่า เงื่อนไขใหม่ของโรงไฟฟ้าชุมชนจะเปลี่ยนแปลงจนกระทบต่อ “ร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” ที่เคยทำไว้หรือไม่ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงมากก็จะต้องออกร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่และนำเข้าที่ประชุม กกพ.พิจารณาอีกครั้ง

เบื้องต้นหากหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใหม่เปิดให้แข่งขันแบบประมูล จะแตกต่างไปจากร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าเดิม ที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นรูปแบบประมูล ดังนั้นต้องจัดทำประกาศใหม่

สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm เปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าไปตั้งแต่ ส.ค. 2560 มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมามีการลงนาม PPA ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด (วันที่ 13 ธ.ค. 2562 ) เพียงแค่ 3 ราย ส่วนอีก 14 รายที่เหลือ ยังไม่มีการลงนามใน PPA แต่อย่างใด ซึ่งตามกำหนดหากผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ไม่ทันกำหนด 31 ธ.ค.2564 จะต้องถูกยกเลิกโครงการพร้อมจ่ายค่าปรับตามข้อกำหนดของ กกพ. ทำให้ กกพ.ต้องมีการนำเสนอให้ กบง. พิจารณาขยายระยะ SCOD ออกไปอีก 1 ปี

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ยังคงเดินหน้าพิจารณาการออกหลักเกณฑ์ผู้เข้าร่วมโครงการใหม่ ให้สอดคล้องกับนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการเน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นหลัก โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ได้หารือกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและเกษตรกร ไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา กำหนดจะเปิดประมูล(Bidding) โรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตเสนอขายไฟฟ้าไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโรง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องทำเกษตรพันธสัญญา(Contract farming) กับเกษตรกร โดยไม่กำหนดว่าต้องร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนขึ้นไป แต่ต้องรับซื้อเชื้อเพลิงจากสัญญา Contract farming ในสัดส่วน 80% และอีก 20% ให้โรงไฟฟ้าจัดหาได้เอง ส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะแบ่งผลกำไร10% ให้ชุมชนหรือไม่ แต่ให้ผู้ประกอบการช่วยเกษตรกรในการจัดหาปัจจัยการผลิตในการเพาะปลูก เช่น กล้าพันธุ์ น้ำ ปุ๋ย เป็นต้น สำหรับโครงการที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากพืชปลูกใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว ไผ่ ห้ามนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาใช้

พร้อมกันนี้ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดคุณสมบัติผู้เสนอขายไฟฟ้า ดังต่อไปนี้ ต้องไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ, ไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าครบอายุไปแล้ว,ไม่เป็นโครงการที่ผ่านการคัดเลือกในรูปแบบ SPP Hybrid Firm,ไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง,ไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่กับโรงน้ำตาลซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง และไม่เป็นโรงไฟฟ้าที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น
โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานระบุจะเร่งกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่โรงไฟฟ้าชุมชนให้เสร็จ และนำเข้าที่ประชุม กพช.ภายในเดือน ต.ค. 2563 นี้ เพื่อออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าภายในปี 2563

Advertisment