ผ่านแค่ 3 เดือนฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดวูบ 5,098 ล้านบาท จาก 18 เม.ย.64 ยังมีเงินสุทธิ 21,779 ล้านบาท เหลือสุทธิ 16,681 ล้านบาท ณ วันที่18 ก.ค. 64 ผลจากการเข้าไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้มและเชื้อเพลิงชีวภาพตามนโยบายรัฐมนตรีพลังงาน ที่ทำให้ติดลบเดือนละ 1,800 ล้านบาท คาดใช้กองทุนน้ำมันฯเป็นกลไกชดเชยราคาไปได้อีกแค่ 9 เดือน ในขณะที่ สกนช.เตรียมเสนอแนวทางขอกู้เพิ่มอีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)ได้เปิดเผยข้อมูลฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 18 ก.ค. 64 ซึ่งมีสินทรัพย์รวม 49,293 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 32,612 ล้านบาท โดยมีเงินเหลือสุทธิ 16,681 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 30,979 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 14,298 ล้านบาท
ในขณะที่หากย้อนไปดูตัวเลขที่ สนพ.เปิดเผยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 18 เม.ย. 64 หรือ 3 เดือนก่อนหน้านี้ กองทุนน้ำมันฯ ยังมีสินทรัพย์รวม 57,027 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุนน้ำมันฯ 35,248 ล้านบาท มีเงินเหลือสุทธิ 21,779 ล้านบาท (บัญชีน้ำมัน 33,637 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ11,858 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบตัวเลข ของเดือน ก.ค.64 กับเดือน เม.ย.64 จะเห็นว่า ผ่านไปเพียง3 เดือน กองทุนน้ำมันมีเงินเหลือสุทธิลดลงถึง 5,098 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้อยว่า รายจ่ายที่ใช้ชดเชยราคา ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบด้วยแก๊สโซฮอล์ E20 E85 ดีเซลB20 และดีเซล (ดีเซล B10) และการชดเชยราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กก.ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง ทำให้กองทุนน้ำมันมีตัวเลขที่ติดลบเดือนละประมาณ 1,800 ล้านบาท โดยเฉพาะในบัญชีLPGนั้น ผ่าน 3 เดือน ตัวเลขติดลบเพิ่มขึ้น 2,440 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เงินกองทุนน้ำมันที่ยังเหลือสุทธิ
16,681 ล้านบาท ในขณะที่ยังคงมีภาระการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพและก๊าซหุงต้มอย่างต่อเนื่อง ที่ทำให้กองทุนซึ่งติดลบเดือนละ 1,800 ล้านบาท จะช่วยรับภาระไปได้อีกเพียง 9 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. เตรียมแนวทางที่จะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น โดยการปรับขึ้นราคา LPG แบบขั้นบันได คือปรับขึ้นไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม หรือขึ้น 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม หรือการขออนุมัติกู้เงินในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ดูแลราคา LPG และราคาน้ำมันให้เกิดเสถียรภาพ ตามกรอบที่กฎหมายให้ดำเนินการได้