เผยการใช้น้ำมันเดือนแรกปี 67 ดีเซลลดฮวบ 11.4%

491
N4027
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย เดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 153.33 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2 โดย น้ำมันเตา NGV น้ำมันกลุ่มดีเซล และ LPG มีการใช้ลดลงร้อยละ 27.6 ร้อยละ 15.8 ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6  ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,046,936 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,752 ล้านบาท/เดือน

สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย เดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 153.33 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2 โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ขณะที่น้ำมันเตา NGV น้ำมันกลุ่มดีเซล และ LPG มีการใช้ลดลงร้อยละ 27.6 ร้อยละ 15.8 ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้มีการประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.94 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.98 ล้านลิตร/วัน ขณะที่แก๊สโซฮอล์ อี85 เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน 0.44 ล้านลิตร/วัน และ 5.50 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลประกอบกับนโยบายการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

- Advertisment -

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 69.36 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 โดยน้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.48 ล้านลิตร/วัน 0.41 ล้านลิตร/วัน และ 0.15 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ 67.32 ล้านลิตร/วัน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.37 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน รวมระยะเวลา 5 เดือน (กันยายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567) รวมทั้งอินเดียและไต้หวันรวมระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566 – พฤษภาคม 2567) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น

การใช้ LPG เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.20 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.6  โดยเป็นการลดลงของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 3.9 มาอยู่ที่ 6.02 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.85 มาอยู่ที่ 5.91 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.2 มาอยู่ที่ 1.97 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 มาอยู่ที่ 2.31 ล้าน กก./วัน

การใช้ NGV เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.92 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.8 ทั้งนี้ ปตท. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน สำหรับรถแท๊กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว และเปิดให้มีการสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามประเภทของรถ รวมทั้งช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยจำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 19.59 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับรถทั่วไป

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,046,936 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,752 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 985,866 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 93,195 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้า น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 61,069 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 47.4 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 6,556 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 160,682 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,290 ล้านบาท/เดือน

Advertisment