เปิดไทม์ไลน์ก่อนมาเป็นโครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ครั้งแรกของเมืองไทย

1364
- Advertisment-

เปิดไทม์ไลน์ก่อนมาเป็นโครงการนำร่อง Rigs-to-Reefs ครั้งแรกของเมืองไทย

ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการดำเนินงานนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้งานแล้วนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ภายใต้ “โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม” ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

โครงการนี้ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติ อนุญาต และทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนและการโอนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วไปจัดวางเป็นปะการังเทียม 2) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในการขออนุญาตจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นในพื้นที่ที่กำหนดและการติดตามตรวจสอบภายหลังการจัดวางร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) กองทัพเรือ เป็นหน่วยงานให้ความเห็นชอบต่อการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและไม่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ 4) กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และ 5) กรมประมง เป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตการเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำ

- Advertisment -

ในส่วนของภาคเอกชน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดนี้ โดยทำงานร่วมกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการปิโตรเลียมรายอื่นๆ ในอ่าวไทย โดยได้ ผลักดันให้เกิดโครงการศึกษาอย่างจริงจังร่วมกันจนนำมาสู่โครงการนำร่องนี้ โดยในส่วนของสถาบันการศึกษา มีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการของทั้งในและต่างประเทศ

สรุปคือ การดำเนินงานโครงการนี้ อยู่ภายใต้การผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพราะต้องได้รับการอนุมัติอนุญาตจากทั้ง 5 หน่วยงานข้างต้น จนสามารถเริ่มดำเนินการได้

กว่า Rigs-to-Reefs จะเป็นรูปธรรม

เปิดบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ซึ่งต้องบอกว่ากว่าโครงการปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในเมืองไทยจะได้ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นรูปธรรม ต้องใช้เวลายาวนานนับ 10 ปี จากการบุกเบิกแนวคิดสู่การเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการศึกษาทางวิชาการ โดยหน่วยงานที่สำคัญอย่างยิ่งคือสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ซึ่งเป็นสถาบันทางวิชาการที่ได้ศึกษาเรื่องการนำขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to- Reefs) นี้ มาตั้งแต่ ปี 2551 สืบเนื่องมาตลอดจนในปี 2556 ทางสถาบันปิโตรเลียมฯ จึงได้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการปิโตรเลียม เพื่อริเริ่มโครงการนำวัสดุเหล็กชนิดเดียวกับขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม มาทดลองทำและจัดวางเป็นปะการังเทียม บริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน โดยได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการกำหนดพื้นที่จัดวางและดูแลอย่างใกล้ชิดจนสำเร็จ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก โดยพบว่าปะการังเทียมที่จัดวางไปนั้น จนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ รวมทั้งยังพบพันธุ์ปลาหายากอีกด้วย

ปี 2559 สถาบันปิโตรเลียมฯ ร่วมกับผู้ประกอบการปิโตรเลียม โดยการนำของบริษัทเชฟรอน พร้อมคณะที่ปรึกษาจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการศึกษาการทำปะการังเทียมจากขาแท่นและกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมในการจัดวางเป็นปะการังเทียม

ต่อมาในปี 2560 สถาบันปิโตรเลียมฯ ร่วมกับ ผู้ประกอบการปิโตรเลียม ได้นำคณะส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการจัดวางปะการังเทียม ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ กรมประมง และนักวิชาการทางทะเล เดินทางไปศึกษาดูงานและประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐอเมริกาที่ดูแลการทำปะการังเทียมในอ่าวเม็กซิโก ณ เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ได้ทำการศึกษาวิจัยสภาพสิ่งแวดล้อม ชีววิทยา และระบบนิเวศใต้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมและพื้นที่ปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม และในปีเดียวกันบริษัทเชฟรอน ในฐานะผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ก็ได้ริเริ่มโครงการศึกษาการนำขาแท่นไปจัดวางเป็นปะการังเทียม และได้ยื่นขอความเห็นต่อคณะทำงานจัดทำมาตรฐานและแนวทางการจัดทำปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ ภายใต้คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งได้ยื่นรายงานการรื้อถอนขาแท่นผลิตปิโตรเลียมต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อขอความเห็นชอบอีกด้วย

ปี 2561 คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (คณะกรรมการชาติฯ) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการ “โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” และมีนโยบายให้ ทช. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ระหว่าง ทช. ร่วมกับ บริษัทเชฟรอน และจุฬาฯ เพื่อร่วมกันดำเนินงานจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่น พร้อมทั้งทำการศึกษาติดตามผลโครงการเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ของประเทศ ซึ่งภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนขาแท่นเป็น 7 ขาแท่นด้วยเหตุผลในการเพิ่มระยะปลอดภัยจากยอดกองปะการังเทียมถึงผิวน้ำให้มากขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือขนาดใหญ่

ภายหลังจากการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงานแล้ว บริษัทเชฟรอนได้ทำการยื่นรายงานขอความเห็นชอบในการรื้อถอนขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำมาทำปะการังเทียมในพื้นที่ดังกล่าวต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รวมทั้ง ทช. ได้ดำเนินการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกรม ทช. โดยทาง ทช. และเชฟรอนได้รับความเห็นชอบและอนุญาตให้จัดวางปะการังเทียมครบถ้วนจากทุกหน่วยงาน และได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนขาแท่นแรกในเดือนสิงหาคม 2563 และดำเนินการเคลื่อนย้ายทั้ง 7 ขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียมจนครบถ้วนเสร็จสิ้นแล้ว โดยขาแท่นสุดท้ายดำเนินการเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

โดยเรื่องราวที่ต้องติดตามต่อจากนี้ คือ การที่ทั้งสามหน่วยงานอย่าง ทช. เชฟรอน และจุฬาฯ จะต้องร่วมกันศึกษาและติดตามการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีก 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนก่อนนำไปขยายผลต่อไป ซึ่งจะต้องดูกันต่อไปว่าขาแท่นปะการังเทียมนี้จะสร้างประโยชน์ต่อท้องทะเลไทยได้อย่างไรบ้าง

Advertisment