- Advertisment-

อย่างที่ทราบกันดีว่าก๊าซธรรมชาติ เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย การเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ และ บงกช หรือปัจจุบัน คือ แปลง G1 และ G2 ที่ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้การผลิตก๊าซฯไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นำไปสู่ความกังวลว่าจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า และภาวะค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะผู้กำกับดูแลและบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย โดย ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกมาย้ำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติที่มุ่งดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีผลกระทบน้อยที่สุด โดยวันที่ 24 เมษายน 2565 ที่เปลี่ยนผ่านการดำเนินงานของแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช จากระบบสัมปทานไปสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทำให้อัตราการผลิตของแหล่งเอราวัณอยู่ที่ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และบงกชอยู่ที่ 398 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ขณะที่อัตราการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2565 แหล่งเอราวัณอยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งบงกช อยู่ที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งสูงกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา

- Advertisment -

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานฯ ที่อัตราการผลิตของแหล่งก๊าซเอราวัณยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการใน 3 ส่วน คือ

1. ร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่มในแหล่งที่มีศักยภาพ ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 แปลง B17 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันก๊าซธรรมชาติทั้ง 3 แหล่งได้ทยอยเข้าระบบแล้ว

2.ขอความร่วมมือผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทุกราย เตรียมพร้อมกำลังการผลิตให้เต็มความสามารถ รวมถึงขอความร่วมมือให้ชะลอหรือเลื่อนแผนซ่อมบำรุงเพื่อให้มีก๊าซธรรมชาติเข้ามาเติมในระบบอย่างต่อเนื่อง และ

3.การเปิดให้ยื่นขอสิทธิและสำรวจปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 ซึ่งจะเป็นแผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวให้กับประเทศ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติ ได้ประมาณ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน การเปลี่ยนผ่านช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลงไปอยู่ที่ 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่หากปี 2566 เมื่อแหล่งเอราวัณ สามารถเพิ่มการผลิตได้มากขึ้น เป้าหมายที่ไทยจะสามารถกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันก็อยู่ไม่ไกล และจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ช่วยลดกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ในระยะยาว

Advertisment