เปิดศูนย์เรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง เป็นทางการในวันคริสต์มาส เน้นศักยภาพพลังงานหมุนเวียน

2094
- Advertisment-

กฟผ. เปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง (EGAT Learning Center , Lam Takong )อย่างเป็นทางการในวันคริสต์มาส 25 ธ.ค.2562 โดยประชาชนเข้าชมฟรี ได้ทุกวัน อังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)  หวังเป็น แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนวียนที่ทันสมัยในภาคอีสาน   ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานระบบไฮโดรเจนไฮบริดที่จับคู่ระหว่างพลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง 

วันนี้ (25 ธันวาคม 2562) นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง จ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนราชการ และประชาชน จ.นครราชสีมา ร่วมในพิธีพร้อมเยี่ยมชมการทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เครื่องที่ 3 – 4  ที่ถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า

- Advertisment -

นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องของพลังงานนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญมาก แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคองแห่งนี้  ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่เข้าใจง่าย ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานระบบไฮโดรเจนไฮบริดที่จับคู่ระหว่างพลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงเทคโนโลยีสุดทันสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งโรงภาพยนตร์ 7 มิติ นวัตกรรมการผลิตไฟฟ้า และเกมส์จำลองต่างๆ ทั้งยังมีตัวอาคารที่ตกแต่งด้วย Wall Building Wind Power ทำให้ผนังตึกพลิ้วไหวตามแรงลม ที่สะดุดตาตั้งแต่แรกเห็น ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังตั้งอยู่ใกล้กับอ่างพักน้ำตอนบนของโรงไฟฟ้าลำตะคองที่มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มีทุ่งกังหันลมและสินค้าชุมชนมากมายที่สามารถไปแวะเยี่ยมชมได้ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะทำให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าใจเรื่องของพลังงานมากขึ้น และยังสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครราชสีมา ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง เป็น 1 ในศูนย์การเรียนรู้ 6 แห่ง ทั่วประเทศ ของ กฟผ. เพื่อร่วมสร้าง “สังคมแห่งภูมิปัญญาด้านพลังงาน” โดยภายในศูนย์การเรียนรู้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 โซน ได้แก่ 1. โซน Plaza Nova สำหรับลงทะเบียนเป็นเหล่าผู้กล้าร่วมผจญภัยในโลกพลังงานร่วมกับหุ่นยนต์ H-bot มาสคอตประจำศูนย์การเรียนรู้ 2. โซน Lamtakong Energy Quest ถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยในดินแดนลำตะคองผ่านภาพยนตร์แบบ 7 มิติ 3. โซน New Frontier สนุกสนานกับเกมที่จะให้ผู้เข้าชมได้สวมบทบาทเป็นกระแสลมในทุ่งกังหันลมยักษ์ เรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าใต้ดินแบบ สูบกลับแห่งเดียวของไทย 4. โซน New Discovery เรียนรู้นวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจนจากกังหันลมสู่การผลิตไฟฟ้า 5. โซน EGAT Energy Quest ชมภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน 6. โซน The Balance ร่วมประลองฝีมือการจัดสรรเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าผ่านโมเดลจำลองโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 7. โซนม่วนซื่นลำตะคอง เรื่องราวการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าและลุ่มน้ำลำตะคองที่พึ่งพาอาศัยกัน โดยศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคองจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่เวลา 09.00 -17.00 น. ยกเว้นวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

 

นอกจากนี้ ในวันดังกล่าว กฟผ. ยังได้ทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ เครื่องที่ 3 – 4 กำลังผลิต  500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ  โดยจะนำกระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตของประเทศในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองที่มีอยู่เดิมขึ้นไป เก็บพักไว้ในอ่างพักน้ำบริเวณตอนบนเขายายเที่ยงแล้วปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน เมื่อจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 4 เครื่อง จะมีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ถือเป็นแบตเตอรี่พลังงานสะอาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน และต้นทุนต่ำที่สุดในปัจจุบันสำหรับระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Grid System) เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคอีสาน รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.6 แสนตันต่อปี

Advertisment