เปิดผลการศึกษา 1 ปีแรกโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น จัดวางเป็นปะการังเทียม (Rigs-to-Reefs ) บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบการเข้ามาอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และความหลากหลายของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำคณะผู้บริหารยกทีมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการหวังต่อยอดเป็นแหล่งอนุรักษ์ทางทะเลและแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
โครงการ Rigs-to-Reefs เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (เชฟรอน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทาง ทช. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน ติดตาม ประเมิน และดูแลพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เชฟรอน เป็นผู้ดำเนินการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตเพื่อนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม และสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานภายหลังจัดวางเสร็จสิ้นจำนวน 34.8 ล้านบาท ในขณะที่ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาทางวิชาการทั้งเรื่องสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล โครงสร้างและการเคลื่อนตัว การเข้ามาอาศัยของสัตว์ทะเล และการใช้ประโยชน์ของประชาชนในชุมชน
ทั้งนี้การจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2563 และ ทช. ได้รับมอบปะการังเทียมจากขาแท่นจากเชฟรอน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งผลการศึกษาใน 1 ปีแรกของการจัดวาง (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) นั้นในสาระสำคัญพบว่า วัสดุขาแท่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการศึกษาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียม การวัดคุณภาพน้ำทะเลและคุณภาพตะกอนพื้นท้องทะเลนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ
นอกจากนี้การศึกษายังพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด (แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์) ไข่ปลาและลูกปลาวัยอ่อน รวมถึงสัตว์ทะเลหน้าดินชนิดต่างๆ ด้วย
ผลการศึกษายังพบว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และพบความหลากของประชากรปลา จากการสำรวจบริเวณกองปะการังเทียมจากขาแท่น เมื่อเปรียบเทียบการสำรวจภายหลังจัดวางปะการังเทียม 1-3 วัน กับระยะเวลา 6 เดือน พบว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยของปลาหนาแน่นขึ้นจาก 97 ตัว/100 ตร.ม. เป็น 215 ตัว/100 ตร.ม. และพบความหลากหลายของปลาเพิ่มขึ้นจาก 15 ชนิด เป็น 47 ชนิด โดยคาดว่าปลาบางชนิดว่ายตามมากับขาแท่น และมีปลาหลายชนิดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจุดวางปะการังเทียมเข้ามาอยู่อาศัยเช่นกัน
รายละเอียดของปลาที่สำรวจพบส่วนใหญ่พบว่า เป็นกลุ่มปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาในครอบครัว Carangidae (ปลาหางแข็ง ปลาสีกุน) Caesionidae (ครอบครัวปลากล้วย) Lutjanidae (ครอบครัวปลากะพง) และ Serranidae (ครอบครัวปลากะรัง) เป็นต้น ยังพบปลาแนวปะการัง เช่น ปลาผีเสื้อ (Chaetodonitidae) และปลานกขุนทอง (Labridae) เป็นต้น
อีกทั้งยังพบว่ามีปลาหลายชนิดที่หายไปจากในบริเวณดังกล่าวเป็นเวลานาน ได้กลับเข้ามาอาศัยอยู่ในกองปะการังเทียมจากขาแท่น อาทิ ปลาโฉมงาม ปลาริวกิว ปลาหางแข็ง เป็นต้น จากการให้สัมภาษณ์ของกลุ่มประมงที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ก่อนประกาศให้บริเวณกองปะการังเทียมเป็นพื้นที่คุ้มครอง
จากการศึกษายังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ขาแท่น โดยแบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ส่วนขาแท่นที่เดิมอยู่เหนือระดับน้ำทะเล (ส่วนบนสุด 5 เมตร) และไม่มีสิ่งมีชีวิตเกาะติด หลังจากวางไป 6 เดือน เริ่มพบการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตจำพวก เพรียงหิน เพรียงหัวหอม ไฮดรอยด์ บริเวณพื้นเหล็กเกือบเต็มทั้งพื้นที่
2. ส่วนขาแท่นที่เคยอยู่ใต้น้ำแต่สัมผัสอากาศในระหว่างการเคลื่อนย้าย (45 เมตร) ไม่พบว่ามีการรอดของสิ่งมีชีวิตเกาะติด โดยช่วงที่ทำการสำรวจพบตะกอนปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ และพบสิ่งมีชีวิตบางประเภทลงเกาะในบริเวณดังกล่าว เช่น ไฮดรอยด์ เพรียงหิน และกัลปังหา
3. ส่วนขาแท่นที่เคยอยู่ใต้น้ำ และอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาในระหว่างการเคลื่อนย้าย (ส่วนล่างสุด 25 เมตร) พบการรอดชีวิตของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มปะการังอ่อนและกัลปังหามากกว่าร้อยละ 70 อาทิเช่น ปะการังอ่อน ปะการังถ้วยส้ม ปะการังดำ เป็นต้น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแบบเปียกด้วยความเร็วต่ำสามารถช่วยรักษาปะการังไว้ได้ และสามารถฟื้นตัวเจริญเติบโตได้ดี รวมถึงมีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ปกคลุมเพิ่มขึ้น โดยในภาพรวม พบพื้นที่ปกคลุมของปะการังอ่อนและกัลปังหารวมร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ขาแท่น
ในประเด็น การเข้าใช้ประโยชน์ของชุมชน จากผลสำรวจความพึงพอใจของประชากรในพื้นที่ที่มีต่อโครงการ จำนวนกว่า 800 ตัวอย่าง พบว่า ความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก เพราะเห็นประโยชน์ของการเพิ่มพูนทรัพยากรสัตว์น้ำ และส่งเสริมการท่องเที่ยวดำน้ำในอนาคต นอกจากนี้ ชุมชนยังมีข้อคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และจัดสรรการใช้ประโยชน์ตามฤดูกาล เช่น ฤดูท่องเที่ยวให้ใช้ประโยชน์ด้านดำน้ำ นอกฤดูการท่องเที่ยวให้อนุญาตทำการประมงแบบใช้เบ็ด เป็นต้น
ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพรวมของการศึกษาติดตามโครงการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ ในบริเวณกองปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม พบอัตราการเจริญเติบโตของปะการังอ่อน การลงเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติด รวมถึงจำนวนปลาเข้าอาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าภายใน 1-2 ปี พื้นที่นี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเลมากขึ้น
ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ จะดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ต่อไป ตามกรอบการดำเนินงาน 2 ปีหลังจากจัดวางปะการังเทียม ในช่วงเดือนกันยายน 2565 และคาดว่าจะทราบผลการสำรวจในช่วงต้นปี 2566
นายอรรจน์ ตุลารักษ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทน บริษัท เชฟรอนฯ และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยินดีกับความสำเร็จของโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม ที่มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ของขาแท่นฯ เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้ โดยมีความเชื่อมั่นว่า กองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคตต่อไป
ในฝั่งของนโยบายนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าจากการได้รับทราบรายงานและดูภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจก่อนหน้าที่คณะจะเดินทางมา 1 วัน รู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ต่อไป รวมทั้งอยากให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีการผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือกับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ สร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียม กรม ทช. ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ซึ่งคิดว่าการลดกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงแรกทำให้การเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรม ทช. ได้เตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ต่อไป
********************************************