สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมเสนอขยายกรอบวงเงินใช้ชดเชยราคา LPG อีก 5,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท หากรัฐตรึงราคา LPG ครัวเรือนไว้ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อ หลังหมดระยะเวลา มิ.ย. 2564 ชี้กรอบวงเงินเดิม 15,000 บาท จะใช้หมดในเดือน มิ.ย. 2564 นี้ เหตุราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงที่ 480 เหรียญสหรัฐต่อตันมาอย่างต่อเนื่อง
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สกนช.เตรียมแผนขอขยายกรอบวงเงินสำหรับชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LPG) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท จากกรอบเดิมที่ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) อนุมัติไว้ให้ใช้ได้เพียง 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เงินกองทุนฯ เพื่อชดเชยราคา LPG ไปแล้ว 12,328 ล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือเงินใช้ได้อีกเพียง 2,672 ล้านบาท ทั้งนี้แต่ละเดือนมีการชดเชยราคา LPG อยู่ประมาณ 700-800 ล้านบาท ดังนั้น สกนช.คาดว่าจะเหลือเงินเพื่อชดเชยราคา LPG ได้อีกไม่เกิน 4 เดือนจากนี้ หรือสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งจะพอดีกับมติ กบน.ที่ให้ขยายเวลาตรึงราคาจำหน่าย LPG ครัวเรือนไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2564 ได้ หลังจากนั้นเงินบัญชี LPG จะเต็มกรอบวงเงิน 15,000 ล้านบาท และหาก กบน.ต้องการตรึงราคา LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปจะต้องขยายกรอบวงเงินมารองรับ
สำหรับทิศทางราคา LPG โลกยังทรงตัวระดับสูงที่ 470-480 เหรียญสหรัฐต่อตัน พุ่งขึ้นสูง จากปลายเดือน ต.ค. 2563 ที่อยู่ระดับ 390 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยเป็นราคาที่สูงมาอย่างต่อเนื่องแม้จะเข้าสู่ฤดูร้อนก็ตาม ส่งผลให้กองทุนฯ ต้องใช้เงินชดเชยราคาถึง 700-800 ล้านบาทต่อเดือนมาต่อเนื่อง
สำหรับสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ 9 พ.ค.2564 เหลือเงินสุทธิ 20,498 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 32,826 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 12,328 ล้านบาท
ส่วนเงินกองทุนฯ รวมที่เหลืออยู่ 20,498 ล้านบาท คาดว่าจะใช้ได้ถึงสิ้นปี 2564 นี้ เนื่องจากมีเงินไหลออกทุกเดือนทั้งการชดเชย LPG และการชดเชยราคาน้ำมันจากพืชพลังงานรวม 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากเงินเหลือต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท จำเป็นที่ สกนช.ต้องเสนอ กบน. เพื่อพิจารณาเรื่องการกู้เงินต่อไป
ด้านรายรับจากเงินส่งเข้ากองทุนบัญชี LPG นั้น ล่าสุด สกนช.ได้ประกาศอัตราส่งเงินเข้ากองทุนฯ LPG ณ วันที่ 3 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นไปตามมติ กบน. ที่ให้เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนฯ สำหรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG)ที่ผลิตโดยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่จำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง กิโลกรัมละ 2.6728 บาท (ไม่รวม LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซของ บริษัท ปตท. สผ.สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร และ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯของบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด(มหาชน) อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย) จากเดิมเรียกเก็บอยู่ 3.1001 บาทต่อกิโลกรัม
พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้ส่งเงินเข้ากองทุนฯสำหรับ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซฯ ของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด(มหาชน) อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย เพื่อจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงในอัตรา 2.1324 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมเก็บอยู่ 2.3601 บาทต่อกิโลกรัม
รวมทั้งให้กำหนดอัตราเงินชดเชยของกองทุนสำหรับ LPG ที่จำหน่ายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง 4.1326 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวม LPG จากโรงแยกก๊าซฯที่ซื้อหรือได้มาจากรัฐ ผู้รับสัมปทาน หรือผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตโดยโรงแยกก๊าซฯของ บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร) จากเดิมเรียกเก็บอยู่ 4.5181 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วน LPG ที่ซื้อหรือได้มาจากโรงแยกก๊าซฯ ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 0.3868 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมเรียกเก็บอยู่ 0.2290 บาทต่อกิโลกรัม และกรณี LPG ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออก ตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และได้รับเงินชดเชยจากกองทุนฯแล้ว ให้ส่งเงินชดเชยคืนกองทุน 4.1326 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมอยู่ที่ 4.5181 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลตั้งแต่ 4 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป