กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาหลักเกณฑ์การนำเข้าLNG ในปริมาณ1.5 ล้านตันต่อปีของ กฟผ. ให้มีความชัดเจนในทางปฎิบัติ หลัง กฟผ.ไม่สามารถนำเข้าได้ ตามที่เคยรายงานให้กพช.รับทราบในช่วงปลายปี2561 นี้ เหตุมีราคาแพง โดยรัฐมนตรีพลังงาน ให้นโยบาย กับ กฟผ. ต้องนำเข้าLNG ในราคาที่ไม่สูงกว่าที่ปตท.นำเข้า ตามสัญญาระยะยาว
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย ในระหว่างนำสื่อมวลชนจากประเทศไทย ดูงานเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน ของบริษัท Japan CCS จำกัด ณ ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-2 ส.ค. 2561 ว่า อนาคตประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เพื่อนำมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะลดลงเหลือราว 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังปี2565-2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ก๊าซ ฯจากเมียนมาจะหมดสัญญาลงในปี 2570 ทำให้กระทรวงพลังงาน ต้องเตรียมความพร้อมรองรับการนำเข้าLNGในอนาคต โดยปัจจุบันได้มอบหมายให้ ปตท. ดำเนินการลงทุนก่อสร้างคลังรับLNG(เทอร์มินอล 1) ที่มาบตาพุดขนาด 10 ล้านตันต่อปี และ เทอร์มินอล 1(ส่วนขยาย)อีก1.5 ล้านตันต่อปี เสร็จในปี2562 รวมเป็น 11.5 ล้านตันต่อปี และยังอยู่ระหว่างก่อสร้างเทอร์มินอล หนองแฟบ อีก 7.5 ล้านตันต่อปี
ในส่วนของเทอร์มินอล 1 ส่วนขยาย 1.5 ล้านตันต่อปีนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทดลองนำเข้าLNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี โดยให้เตรียมความพร้อมให้แล้วเสร็จในปี 2561 และให้เริ่มนำเข้าในปี 2562
อย่างไรก็ตามในการดำเนินการ ยังมีปัญหาเรื่องของราคาก๊าซและปริมาณนำเข้า ซึ่งเดิม กฟผ.มีแผนจะนำเข้าคาร์โกแรก 75,000 ตันในช่วงปลายปี 2561 แต่อาจทำให้มีผลกระทบในด้านราคาเพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ราคาLNG ที่เป็นราคาspot market ปรับสูงขึ้น ดังนั้นการนำเข้าล็อตเล็กอาจจะได้ราคาที่แพงกว่าการนำเข้าล็อตใหญ่ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะต้องนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และกพช.พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ราคานำเข้าLNGของ กฟผ.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ
โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้ให้นโยบายกับทางกฟผ.เกี่ยวกับการนำเข้าLNG ในปริมาณ1.5 ล้านตันต่อปี ว่า กฟผ.จะต้องนำเข้าในราคาที่ต่ำกว่า ที่ ปตท.ดำเนินการ ตามสัญญาระยะยาว ซึ่งราคา spot LNG ที่ซื้อขายกันมีทั้งช่วงที่มีราคาที่ต่ำกว่าและสูงกว่า ราคาที่ปตท.นำเข้า ดังนั้น กฟผ.จึงต้องเลือกนำเข้า จังหวะ ที่ราคา spot LNG มีราคาที่ต่ำกว่า จึงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามในข้อกฎหมาย กฟผ.กำหนด ให้ การจัดหาเชื้อเพลิงของกฟผ. ซึ่งหมายรวมถึง LNG ที่กฟผ.นำเข้ามาเอง จะต้องใช้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.หรือโรงไฟฟ้าของบริษัทลูก กฟผ. เท่านั้น ห้ามจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายอื่น จึงเป็นประเด็นข้อจำกัด ที่ต้องนำเสนอต่อ กพช. ให้พิจารณาในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการนำเข้าLNG ของกฟผ.ด้วย